Every day

7:00 - 18:00

Call us

0970405069 , 0956416356

8 สารอาหารสำคัญ
แนะนำเพื่อดูแลผู้สูงอายุ

ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุลาดพร้าว

1. โปรตีน

โปรตีนมีความสำคัญต่อการสร้างกล้ามเนื้อ ป้องกันภาวะกล้ามเนื้อลีบ ช่วยเรื่องการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอและเป็นองค์ประกอบของเอนไซม์ในร่างกาย ทำให้ระบบต่าง ๆ ทำงานได้อย่างสมบูรณ์ หากได้รับโปรตีนไม่เพียงพอ จะทำให้สูญเสียมวลกล้ามเนื้อ อาจทำให้การเคลื่อนไหวไม่มั่นคง ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ หากมีการบาดเจ็บจะทำให้ฟื้นฟูร่างกายได้ช้ากว่าปกติ ผู้ที่ต้องดูแลผู้สูงอายุสามารถคำนวณปริมาณโปรตีนที่เหมาะสมต่อวันง่าย ๆ คือ ผู้สูงอายุควรได้รับโปรตีน 1 – 1.2 กรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน เช่น ผู้สูงวัยน้ำหนัก 60 กิโลกรัม ควรได้รับโปรตีนวันละ 60 กรัม หากเทียบปริมาณเนื้อสัตว์ 2 ช้อนกินข้าว (30 กรัม) หรือไข่ไก่ 1 ฟอง จะให้โปรตีน 7 กรัม นม 1 แก้ว 240 มล. จะให้โปรตีน 8 กรัม  

  • แหล่งโปรตีนที่แนะนำ ทั้งจากสัตว์และโปรตีนจากพืช เช่น เนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมัน เนื้อปลา เต้าหู้แข็ง เต้าหู้ไข่ ถั่วเหลือง ดื่มนมพร่องมันเนย นมถั่วเหลือง ฯลฯ
  • ควรลดหรือเลี่ยงเนื้อสัตว์ที่มีไขมันสูง เช่น เนื้อสัตว์ติดหนังมัน และเนื้อสัตว์แปรรูป เช่น กุนเชียง หมูยอ ไส้กรอก ฯลฯ 

2. คาร์โบไฮเดรต

เป็นแหล่งพลังงานของร่างกาย ปริมาณที่แนะนำทั่วไปคือ 45 – 65% ของพลังงานที่ร่างกายได้รับต่อวัน เทียบเท่ากับข้าวหรือแป้ง ประมาณ 8 – 10 ทัพพี 

  • แหล่งอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรต แนะนำให้เลือกกินคาร์โบไฮเดรตประเภทแป้งไม่ขัดสีและธัญพืช ได้แก่ ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ลูกเดือย ขนมปังโฮลวีต ผักและผลไม้ มากกว่าข้าวขาว หรือขนมปังขาว ฯลฯ เพราะจะช่วยให้ร่างกายได้รับใยอาหารที่มีประโยชน์ด้วย
  • ควรลดอาหารประเภทน้ำตาล น้ำหวาน ขนมหวานลง 

3. วิตามินบี 12

ในผู้สูงวัยความสามารถในการย่อยและการดูดซึมวิตามินบี 12 อาจลดลง ผู้สูงวัยควรได้รับ วิตามินบี 12 วันละ 2.0 ไมโครกรัม ซึ่งคนที่ต้องดูแลผู้สูงอายุควรระวังการขาดวิตามินบี 12 เพราะจะทำให้ผู้สูงอายุเกิดภาวะโลหิตจาง และโรคทางระบบประสาท เกิดอาการหลงลืม อารมณ์แปรปรวนได้  

  • แหล่งอาหารที่มีวิตามินบี 12 ส่วนใหญ่ วิตามินบี 12 มักพบในผลิตภัณฑ์จากสัตว์และผลิตภัณฑ์จากนม เช่น เนื้อสัตว์ อาหารทะเล ไข่ นม โยเกิร์ตรสธรรมชาติ เป็นต้น 

4. โฟเลตหรือกรดโฟลิก (วิตามินบี 9)

ผู้สูงอายุต้องการโฟเลต ในเพศชาย คือวันละ 175 ไมโครกรัม และเพศหญิง คือวันละ 150 ไมโครกรัม เพื่อป้องกันภาวะซีดและลิ้นอักเสบ ซึ่งหากขาดโฟเลตอาจทำให้เกิดอาการอ่อนแรง เหนื่อยง่าย หงุดหงิด และใจสั่นได้  

  • แหล่งอาหารที่มีโฟเลต ได้แก่ ผักใบเขียว ถั่วต่าง ๆ เช่น ถั่วดำ ถั่วแดง ถั่วเขียว ถั่วเหลือง เต้าหู้ ยีสต์และธัญพืช ฯลฯ 

5. แคลเซียม

มีบทบาทช่วยในการสร้างเสริมกระดูกและฟัน ช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุน กระดูกบาง และเกี่ยวข้องกับการแข็งตัวของเลือด รวมถึงกระตุ้นการหดตัวของกล้ามเนื้อ ผู้สูงอายุต้องการแคลเซียมอย่างน้อยวันละ 1,000 มิลลิกรัม  

  • แหล่งอาหารที่มีแคลเซียม ได้แก่ นมและผลิตภัณฑ์จากนม ควรเป็นนมไขมันต่ำรสจืด โยเกิร์ตรสธรรมชาติ นมถั่วเหลืองเสริมแคลเซียม ปลาตัวเล็กตัวน้อย ผักใบเขียว เช่น ผักโขม ปวยเล้ง ฯลฯ 

6. วิตามินดี

ปกติร่างกายได้รับวิตามินดีจากการสังเคราะห์แสงแดดและจากการกินอาหาร แต่ผู้สูงอายุที่ไม่สามารถออกรับแสงแดดภายนอกได้เป็นเวลานาน อาจขาดวิตามินดีได้ ซึ่งหากขาดจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อความแข็งแรงของกระดูกและกล้ามเนื้อ 

  • แหล่งอาหารที่มีวิตามินดี ได้แก่ ปลาที่มีไขมัน เช่น ปลาซาร์ดีน ปลาทูน่า ปลาแซลมอน ปลาแมคเคอเรล เป็นต้น ตับ เห็ดบางชนิด และนมที่เสริมวิตามินดี ฯลฯ 

7. โพแทสเซียม

หากผู้สูงอายุกินอาหารที่มีโพแทสเซียมอย่างเพียงพอ จะช่วยเรื่องระบบกล้ามเนื้อ รักษาความเป็นกรด – ด่างของร่างกาย และช่วยการทำงานของเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างพลังงาน  

  • แหล่งอาหารที่มีโพแทสเซียม ได้แก่ ผัก ผลไม้ เช่น กล้วย มะละกอ ส้ม มะเขือเทศ กะหล่ำปลี ชะอม บรอกโคลี ผักโขม ถั่วต่างๆ นมและผลิตภัณฑ์นม ฯลฯ 

8. ไฟเบอร์หรือใยอาหา

ที่ช่วยเรื่องระบบขับถ่าย จึงควรดูแลผู้สูงอายุให้ได้รับใยอาหารอย่างเพียงพอทุกวันเพื่อป้องกันอาการท้องผูก โดยปริมาณใยอาหารที่แนะนำคือ 25 กรัมต่อวัน โดยธัญพืชที่ไม่ผ่านการขัดสี 100 กรัม มีปริมาณใยอาหาร 4-10 กรัม และ ถั่วเมล็ดแห้งและเมล็ดพืชมีปริมาณใยอาหาร 19-28 กรัมต่อ 100 กรัม 

  • แหล่งอาหารที่มีไฟเบอร์ ได้แก่ ธัญพืช ถั่ว ข้าวโอ๊ต ข้าวบาร์เลย์ ผักและผลไม้ ฯลฯ 

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

*
*