ผู้สูงอายุถ่ายยาก เกิดจากอะไร?
เมื่อเข้าสู่ช่วงวัย “ผู้สูงอายุ” ร่างกายจะเกิดความเสื่อมของวัยวะต่างๆ ทำให้มีปัญหาสุขภาพมากมายตามมา หรือแม้แต่ปัญหาการใช้ชีวิตในแต่ละวัน อย่างปัญหาเรื่องการขับถ่าย ซึ่งมักจะพบว่า ผู้สูงอายุถ่ายยาก หรือมีปัญหาท้องผูก ปัญหานี้ฟังดูแล้วอาจจะเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่เอาเข้าจริงแล้วผู้สูงอายุถ่ายยากจะนำมาสู่ปัญหาสุขภาพอื่นๆ ตามมาได้อีกมากมาย จึงไม่ควรนิ่งนอนใจ และควรมาทำความเข้าใจถึงสาเหตุของปัญหาผู้สูงอายุถ่ายยาก พร้อมกับหาแนวทางการแก้ไข ว่าจะต้องกินอะไรเพื่อแก้ไขปัญหาผู้สูงอายุถ่ายยากนี้
ผู้สูงอายุถ่ายยาก เกิดจากอะไร
สำหรับอาการถ่ายยาก ที่จะเข้าข่ายของการเป็นโรคท้องผูกนั้น จะต้องมีอาการที่มีความยากในการถ่าย ใช้เวลาการถ่ายมาก ต้องมีการเบ่งถ่ายอุจจาระ อุจจาระแข็งมาก รู้สึกปวดท้องอยากถ่ายอยู่ตลอดเวลา หรือรู้สึกว่าถ่ายยังไม่หมด และมีความถี่ในการถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ด้วย
สาเหตุหลักปัญหาถ่ายยากหรือท้องผูก แบ่งได้ 5 สาเหตุใหญ่ ดังนี้
- พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน
เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยผู้สูงอายุ กิจวัตรประจำวันก็ย่อมจะลดน้อยลง ทำให้พฤติกรรมการใช้ชีวิตไม่เหมือนช่วงวัยหนุ่มสาว ซึ่งก็อาจจะส่งผลทำให้เกิดภาวะถ่ายยาก หรือโรคท้องผูกได้เช่นกัน พฤติกรรมที่ส่งผลดังกล่าว อาทิ
– รับประทานอาหารที่มีกากใยน้อย หรือมีเส้นใยน้อย
– ดื่มน้ำในปริมาณน้อย ผู้สูงอายุมักจะดื่มน้ำน้อย เนื่องจากศูนย์ที่กระตุ้นให้รู้สึกหิวน้ำทำงานไม่ค่อยดี ผู้สูงอายุจึงไม่ค่อยรู้สึกหิวน้ำ
– ไม่ได้ฝึกการขับถ่ายให้เป็นเวลา หรืออั้นอุจจาระบ่อยๆ - โรคทางร่างกาย
สำหรับผู้สูงอายุที่เจ็บป่วย มีโรคทางร่างกาย หรือโรคประจำตัวบางโรค สามารถจะส่งผลกระทบต่อระบบขับถ่าย ทำให้ขับถ่ายยาก จนเกิดภาวะเป็นโรคท้องผูกได้เช่นกัน โรคทางร่างกาย อาทิ โรคเบาหวาน ต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยกว่าปกติ ภาวะแคลเซียมในเลือดสูง โรคทางระบบประสาท โรคที่สมองหรือไขสันหลัง โรคพาร์กินสัน เป็นต้น - ผลข้างเคียงจากยาที่กินต่อเนื่อง
สาเหตุที่ทำให้ผู้สูงอายุถ่ายยาก หรือท้องผูก อาจมาจากผลข้างเคียงของยาที่ต้องกินเป็นประจำทุกวัน ได้แก่
– กลุ่มยาทางจิตเวช เช่น ยาที่รักษาอาการซึมเศร้า
– ยาลดการบีบเกร็งของลำไส้ที่ใช้แก้ปวดท้อง เช่น ยาแก้ปวด Buscopan
– ยารักษาโรคพาร์กินสัน และยาแก้แพ้บางชนิดที่ใช้กันเป็นประจำ เช่น Chlorpheniramine (CPM)
– ยากันชัก เช่น Dilantin
– ยาลดความดันโลหิต ได้แก่ Diltiazem, Verapamil, Clonidine
– ยาแก้ปวดที่มีส่วนผสมของ Morphine หรืออนุพันธ์ของ Morphine
– ธาตุเหล็ก ที่มีอยู่ในยาบำรุงเลือด ยาลดกรด
– วิตามินเสริมที่มีส่วนผสมของแคลเซียม หรืออะลูมินัม
– ยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs เช่น Diclofenac, Piroxicam และ Indomethacin
หากผู้สูงอายุมีประวัติกินยาในกลุ่มนี้ อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้มีอาการท้องผูกได้ - เกิดภาวะการอุดกั้นของลำไส้
การอุดกั้นของทางเดินอาหาร ทำให้เกิดอาการท้องผูกได้ ซึ่งภาวะดังกล่าวเป็นผลมาจาก โรคมะเร็งหรือเนื้องอกของลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ลำไส้ตีบตันจากสาเหตุต่างๆ ความผิดปกติที่ทวารหนัก เช่น ทวารหนักกลืนกัน ทวารหนักปลิ้น ทวารหนักเป็นกระเปาะยื่นเข้าช่องคลอด (ในสตรี) หรือรูทวารหนักตีบตัน หรือมีการลดน้อยลงของปมประสาทบริเวณลำไส้ใหญ่มาแต่กำเนิด (Hirschprung’s disease) - การทำงานของลำไส้ผิดปกติ
สาเหตุของผู้สูงอายุถ่ายยาก หรือเป็นโรคท้องผูก ยังสามารถเกิดได้จาก การทำงานของลำไส้ หรือกล้ามเนื้อที่ควบคุมการขับถ่ายผิดปกติ ได้แก่ การเบ่งไม่เป็นโดยมีการบีบตัวของกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนักไม่ประสานกับการเบ่ง การเคลื่อนไหวของลำไส้ใหญ่น้อยกว่าปกติ หรือมีการเคลื่อนไหวไม่ประสานกัน ทำให้อุจจาระเคลื่อนไหวภายในลำไส้ใหญ่ช้ากว่าปกติ และภาวะลำไส้แปรปรวน
วิธีแก้ปัญหาผู้สูงอายุถ่ายยาก
หลักการเบื้องต้นการแก้ไขปัญหาผู้สูงอายุถ่ายยาก มี 3 แนวทางด้วยกัน ดังนี้
- กินอาหารที่ช่วยขับถ่าย
ผู้สูงอายุถ่ายยาก สามารถป้องกันและแก้ไขด้วยการกิน เพื่อให้ร่างกายขับถ่ายได้ปกติ ซึ่งสิ่งที่ผู้สูงอายุควรกินมีดังนี้
– น้ำเปล่า ควรดื่มให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ให้ได้อย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว
– ผักและผลไม้ ในแต่ละวันควรกินให้ได้มื้อละไม่ต่ำกว่า 2 ทัพพี โดยเลือกผักที่มีกากใยสูง เช่น คะน้า ส่วนผลไม้เลือกที่เนื้อนิ่มเคี้ยวง่าย
– ข้าวกล้อง และธัญพืชต่างๆ เนื่องจากมีกากใยสูง
– กินอาหารที่มีพรีไบโอติกส์ หรือโพรไบโอติกส์ เช่น นมเปรี้ยว โยเกิร์ต - ปรับพฤติกรรม
อย่างที่กล่าวไว้ว่า มีบางพฤติกรรมที่ส่งผลให้ผู้สูงอายุถ่ายยาก หรือมีปัญหาโรคท้องผูก หากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่างๆ ดังกล่าว ก็อาจจะช่วยทำให้การขับถ่ายดีขึ้น อาทิ
– การขับถ่ายให้เป็นเวลา ไม่กลั้นอุจาระ
– การออกกำลังกายสม่ำเสมอ
– พักผ่อนให้เพียงพอ
– รักษาอารมณ์ไม่ให้เครียด หรือมีความกังวล - ปรึกษาแพทย์ เพื่อรับการรักษา
หากผู้สูงอายุได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หรือกินอาหารต่างๆ ที่ช่วยในเรื่องการขับถ่ายแล้ว ยังมีปัญหาท้องผูกอยู่ อาจจำเป็นต้องปรึกษาแพทย์ เพื่อได้รับการวินิจฉัยและตรวจร่างกาย ในการหาสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาท้องผูกในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ได้รับยาเป็นประจำ หรือมีโรคประจำตัวอยู่
สำหรับวิธีการรักษาโรคท้องผูก หรือการถ่ายยากนั้น มีตั้งแต่การกินยาถ่าย การปรับยาที่กินประจำ ไปจนถึงการผ่าตัดเลยทีเดียว ซึ่งปัญหาผู้สูงอายุถ่ายยาก หรือโรคท้องผูก อาจจะไม่ได้รุนแรง แต่หากปล่อยไว้และให้เกิดปัญหานานๆ ก็อาจจะส่งผลเสีย และนำไปสู่โรคอื่นๆ ที่ร้ายแรงได้ อย่างเช่น โรคมะเร็งลำไส้ จึงไม่ควรละเลยหรือปล่อยปัญหาเอาไว้ โดยไม่ทำการแก้ไขหรือรักษา