โลหิตจาง (Anemia) หรือที่เรียกโดยทั่วไปว่าภาวะซีด บ้างก็เรียกว่าเลือดน้อย เป็นภาวะที่มีปริมาณเม็ดเลือดแดงในเลือดน้อยกว่าปกติ เม็ดเลือดแดงมีหน้าที่ในการนำออกซิเจนไปยังเซลล์ต่างๆในร่างกาย การที่เม็ดเลือดแดงลดลงจึงอาจส่งผลให้ร่างกายมีอาการผิดปกติได้หลากหลาย เช่น เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย โดยอาการแสดงอาจมากหรือน้อยแตกต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระดับเม็ดเลือดแดงในร่างกายและความสามารถในการปรับตัวต่อภาวะโลหิตจางของแต่ละคน หากโลหิตจางรุนแรงอาจส่งผลต่อการทำงานของอวัยวะที่สำคัญอย่างหัวใจและสมองได้
สาเหตุของการเกิดภาวะโลหิตจางนั้น เกิดได้จากหลายสาเหตุ โดย สามารถแบ่งออกได้เป็นสาเหตุหลักๆ ได้ดังนี้
1) การสร้างเม็ดเลือดแดงน้อยลง ซึ่งมีปัจจัยมาจาก
- การขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อการสร้างเม็เลือดแดง ได้แก่ การขาดธาตุเหล็ก วิตามินบี 12 หรือกรดโฟลิค ซึ่งอาจพบได้ในหญิงตั้งครรภ์
- ภาวะโรคเรื้อรังบางชนิด เช่น ไตวาย โรคตับ ข้ออักเสบ ที่อาจส่งผลให้การสร้างเม็ดเลือดแดงลดลง
- โรคของไขกระดูก เช่น ไขกระดูกฝ่อ มะเร็งในไขกระดูก การติดในไขกระดูก เป็นต้น
2) การทำลายเม็ดเลือดแดงมากกว่าปกติในร่างกาย โรคที่เป็นสาเหตุให้เม็ดเลือดแดงแตกง่ายกว่าปกติ ผู้ป่วยมักมีอาการแสดงคือตัวเหลือง ตาเหลือง (ดีซ่าน) ร่วมด้วย เช่น
- โรคธาลัสซีเมีย (Thalassemias) เป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมที่พบบ่อย โดยอาจมีอาการได้หลากหลาย ตั้งแต่ไม่มีอาการ หรือมีโลหิตจางอย่างรวดเร็วเมื่อมีไข้ บางรายอาจมีอาการดีซ่าน ตับม้ามโตตั้งแต่อายุน้อยๆ
- โรคเม็ดเลือดแดงแตกง่ายจากการถูกทำลายโดยภูมิคุ้มกันของตนเอง มักพบร่วมกับโรคของระบบภูมิคุ้มกันอื่นๆ โดยพบได้บ่อยในเพศหญิงวัยเจริญพันธุ์
- โรคเม็ดเลือดแดงแตกง่ายจากการขาดเอนไซม์ G-6PD ซึ่ง่เป็นโรคที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ มักพบในผู้ชาย ในภาวะปกติจะไม่มีอาการ แต่อาการโลหิตจางจะเกิดขึ้นรวดเร็วในกรณีที่มีการติดเชื้อหรือได้รับการกระตุ้น ผู้ป่วยอาจมีดีซ่าน ปัสสาวะสีโค้ก อ่อนเพลีย
- การติดเชื้อบางชนิด เช่น มาลาเรีย คลอสติเดียม มัยโค พลาสมา เป็นต้น
3) การสูญเสียเลือดอย่างฉับพลัน เช่น การเกิดอุบัติเหตุ การตกเลือด ภาวะเลือดหลังคลอดบุตร หรืออาจค่อยๆ เสียเลือดเรื้อรัง เช่น การเสียเลือดทางประจำเดือนของหญิงวัยเจริญพันธุ์ หรือยอาจเกิดจากมีเลือดออกจากทางเดินอาหารครั้งละน้อยๆเป็นเวลานาน จากโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ แผลในกระเพาะ เป็นต้น
อาการที่อาจพบได้ในภาวะโลหิตจาง
- เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย
- อาจมีคนทักว่าซีด
- ตาเหลือง ตัวเหลือง
- หายใจลำบากขณะออกแรง
- มึนงง วิงเวียนศีรษะ
- เป็นลม หมดสติ
- เจ็บหน้าอก ใจสั่น
- หากมีอาการรุนแรงอาจทำให้หัวใจวาย ในผู้ป่วยที่มีภาวะโลหิตจางเรื้อรัง อาจพบเล็บมีลักษณะอ่อนแอและแบน หรือเล็บเงยขึ้นมีแอ่งตรงกลางคล้ายช้อน