Every day

7:00 - 18:00

Call us

0970405069 , 0956416356

3 เหตุผลที่ผู้ป่วยต้องรักษาเบาหวานอย่างต่อเนื่อง

โรคเบาหวานเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติกับฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ทำหน้าที่พาน้ำตาลกลูโคสไปใช้ในเนื้อเยื่อต่าง ๆ เมื่อเกิดภาวะขาดอินซูลินหรือตับอ่อนไม่สามารถผลิตอินซูลินได้จะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น หากปล่อยให้น้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานานจะส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่ออวัยวะต่าง ๆ ซึ่งอาจส่งผลให้มีอาการต่อไปนี้เช่น อ่อนเพลียง่าย ผอมลงโดยไม่ทราบสาเหตุ ปัสสาวะบ่อยผิดปกติ กระหายน้ำผิดปกติ ตาพร่ามัว ปวดขา ปวดเข่า ผิวแห้ง มีอาการคันตามตัว มีฝีขึ้นตามตัวบ่อย ๆ อารมณ์แปรปรวนโมโหง่าย และแผลหายช้ากว่าปกติ

ในกระบวนการรักษาโรคเบาหวานต้องอาศัยทั้งการแพทย์และการร่วมมือของผู้ป่วยเพื่อรักษาระดับน้ำตาลในเลือดเพื่อลดความเสี่ยงโรคต่าง ๆ ที่สำคัญโรคเบาหวานเป็นโรคจะต้องอยู่ติดตัวกับผู้ป่วยไปตลอดผู้ป่วยเบาหวานจะต้องหมั่นควบคุมโรคด้วยตัวเองและไปพบแพทย์ตามนัดด้วย 3 เหตุผลต่อไปนี้

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาโรคเบาหวานให้หายขาด การรักษาในตอนนี้คือการมุ่งเน้นรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระบบปกติ เพื่อคุมให้โรคอยู่ในระยะสงบ คือไม่แสดงอาการใด ๆ และไม่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวานเพิ่มเติม แม้จะเป็นโรคที่รักษาไม่ได้แต่ก็ใช่ว่าจะน่ากลัวมากเกินไป เพราะผู้ป่วยเบาหวานสามารถควบคุมโรคให้อยู่กับตนไปได้โดยที่มีโอกาสในการก่อให้เกิดโรคแทรกซ้อนน้อยลง ด้วยการปรับตัวในชีวิตประจำวันและรับการรักษาจากแพทย์

ผู้ป่วยเบาหวานส่วนใหญ่ไม่ได้ประสบปัญหาแค่ระดับน้ำตาลในเลือดสูงอย่างเดียวในหลาย ๆ รายยังพบว่ามีภาวะความดันโลหิตสูง ภาวะไขมันในเลือดสูง ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของโรคร้ายและภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้อีกมากมายเช่น

เสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง

ผู้ป่วยเบาหวานเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมองมากกว่าคนทั่วไป ในบางรายผู้ป่วยเบาหวานอาจเป็นโรคหลอดเลือดตีบที่หัวใจ บางคนเป็นโรคหลอดเลือดตีบที่สมอง เนื่องจากการมีระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงกว่าปกติเป็นเวลานาน ๆ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำเกิดโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ โดยเฉพาะการเกิดภาวะหลอดเลือดแดงตีบแข็ง ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้กับหลอดเลือดทั่วร่างกาย และการที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงยังก่อปัญหาในระบบไหลเวียนโลหิตอื่น ๆ เช่น

  • เกิดความผิดปกติของกระบวนการเผาผลาญพลังงานในระดับเซลล์ เกิดการสร้างสารเคมีและสารที่กระตุ้นให้เกิดการอักเสบ ส่งผลให้หลอดเลือดแดงเสียความยืดหยุ่น เปราะและฉีกขาดง่าย
  • เกิดการเปลี่ยนแปลงการแข็งตัวของเลือด ทำให้เลือดจับตัวกันง่ายขึ้น
  • น้ำตาลที่มีปริมาณมากยังทำให้เกิดการจับตัวเป็นก้อน เกาะอยู่ตามผนังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดแดงตีบแคบลง เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ได้น้อยลง

เบาหวานนำไปไปสู่การเสื่อมสภาพของไต

1 ใน 3 ของผู้ป่วยเบาหวานมักเกิดโรคแทรกซ้อนของไตวายเรื้อรังร่วมด้วย (เบาหวานลงไต) โดยเฉพาะผู้ป่วยเบาหวานที่มีความดันโลหิตสูง และมีอายุ 65 ปีขึ้นไป โดยปกติผู้ป่วยเบาหวานจะมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง ส่งผลต่อหลอดเลือดฝอยที่ไต ซึ่งน้ำตาลที่สะสมในผนังหลอดเลือดเป็นเวลานานจนเกิดการตีบและอุดตัน ส่งผลให้ไตกรองของเสียออกจากร่างกายได้ลดลง

นอกจากนี้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงยังส่งผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ ทำให้ติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะ ลุกลามจนทำลายเนื้อไต และระดับน้ำตาลในเลือดสูงยังส่งผลต่อเส้นประสาทในร่างกาย ทำให้การสั่งการระหว่างสมองและอวัยวะมีประสิทธิภาพลดลง เช่น เมื่อมีน้ำปัสสาวะเต็มกระเพาะจะไม่รู้สึกปวด ความสามารถในการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะลดลง เกิดความดันและของเหลวคั่งในทางเดินทางปัสสาวะ ซึ่งอาการต่าง ๆ นี้จะทำให้ไตถูกทำลายมากขึ้น

สุขภาพช่องปากถดถอย เสี่ยงโรคเหงือกอักเสบและโรคปริทันต์อักเสบ

โรคเหงือกอักเสบและโรคปริทันต์อักเสบคือโรคที่มีการอักเสบของอวัยวะรองรับฟัน (เหงือก กระดูกเบ้าฟัน เอ็นยึดปริทันต์ เคลือบรากฟัน) สาเหตุหลักเกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่กระจายอยู่ภายในช่องปากและสะสมอยู่บริเวณขอบเหงือกและซอกฟัน ซึ่งโรคเบาหวานก็เป็นปัจจัยเสี่ยงอย่างหนึ่งของการเกิดโรคเหงือกอักเสบและโรคปริทันต์อักเสบ อาจมีการสูญเสียฟันในผู้ป่วยบางราย

โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยโรคเบาหวานมักไม่ทราบถึงภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นภายในช่องปาก รวมถึงอาการปากแห้งเนื่องจากน้ำลายไหลน้อยลง อาการปวดแสบปวดร้อน การติดเชื้อในช่องปากง่าย และแผลหายช้า ผู้ป่วยเบาหวานจึงต้องดูแลทำความสะอาดช่องปากอย่างถูกต้อง และเพื่อให้การดูแลได้ผลดีควรปรึกษาบุคลากรทางทันตกรรมเพื่อรับคำแนะนำและการติดตามผลตรวจสุขภาพช่องปากอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นผู้ป่วยโรคเบาหวานนอกเหนือจากการออกกำลังกาย รับประทานอาหารและยาที่แพทย์แนะนำเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลให้ดีแล้ว ควรตระหนักถึงการแปรงฟันและใช้ไหมขัดฟันให้ถูกต้องและสม่ำเสมอเพื่อจะได้มีฟันที่แข็งแรง

เบาหวานขึ้นจอประสาทตา

หนึ่งในภาวะแทรกซ้อนของผู้ป่วยเบาหวานที่เกิดจากระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นระยะเวลานาน คือ อาการเส้นเลือดในจอประสาทตาเสื่อมกระทั่งโป่งและแตก หรือเรียกสั้น ๆ ว่า เบาหวานขึ้นตา เกิดจุดเลือดออกเล็ก ๆ กระจายไปทั่วดวงตา มีน้ำและไขมันซึมออกมา อาการเบาหวานขึ้นจอประสาทตาส่งผลให้จอประสาทตาบวม เกิดอาการตามัว หากปล่อยไว้ไม่รักษาจนเส้นเลือดเกิดการอุดตัน จอประสาทตาขาดเลือด เกิดการสร้างเส้นเลือดขึ้นใหม่ทดแทน ซึ่งเส้นเลือดที่สร้างขึ้นมาใหม่ไม่สมบูรณ์ มีโอกาสเปราะแตกง่าย ทำให้เลือดซึมออกมาในช่องวุ้นตา หรือเกิดพังผืดดึงจอประสาทตาลอก ส่งผลต่อการมองเห็น บางรายมีอาการตามัว เห็นเงาคล้ายหยากไย่ บางรายเห็นภาพบิดเบี้ยว และหากเป็นรุนแรงอาจถึงขั้นสูญเสียการมองเห็น

ซึ่งอาการเบาหวานขึ้นจอประสาทตานี้มีโอกาสเกิดขึ้นกับผู้ที่เป็นโรคเบาหวานมาเป็นระยะเวลานานมากกว่าคนที่ตรวจเจอเบาหวานในระยะเริ่มต้น ดังนั้นผู้ที่ตรวจพบว่าเป็นเบาหวาน ควรมีการตรวจดวงตาร่วมด้วย หากยังไม่พบเบาหวานขึ้นตา ควรตรวจซ้ำปีละ 1 ครั้ง หากตรวจพบในระยะที่ดวงตามีการสร้างเส้นเลือดใหม่ ต้องรักษาด้วยเลเซอร์ หรือผ่าตัด ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของอาการ หากปล่อยไว้นานหรือไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ จากเบาหวานขึ้นตา เช่น เลือดออกในวุ้นตา ต้อหิน จอตาลอก ร้ายแรงที่สุดอาจสูญเสียการมองเห็นหรือตาบอดได้

เบาหวานส่งผลกระทบกับเท้า

จากข้อมูลของสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย พบว่าทุกปีจะมีผู้ป่วยเบาหวานถูกตัดเท้าถึง 1 ล้านเท้า จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ป่วยเบาหวานจำเป็นต้องได้รับการดูแลให้มากเป็นพิเศษ รักษาเท้าไม่ให้บาดเจ็บหรือติดเชื้อ เพราะการบาดเจ็บหรือเป็นแผลเพียงเล็กน้อย อาจลุกลามไปสู่อันตรายถึงขั้นพิการหรือเสียชีวิตได้ นั่นเพราะว่าผู้ที่เป็นโรคเบาหวานส่วนใหญ่มักพบว่ามีอาการเสื่อมสภาพของประสาทส่วนปลายที่ไปเลี้ยงมือและเท้า การรับรู้ความรู้สึกน้อยลง เกิดอาการชาโดยเฉพาะนิ้วเท้า ทำให้มีอาการเท้าผิดรูป เกิดหนังด้านและเกิดแผลโดยไม่รู้ตัวหรือกว่าจะสังเกตพบแผลก็ลุกลามไปมากแล้ว

นอกจากนี้ เมื่อการไหลเวียนของโลหิตที่ไปสู่ขาลดลง ผนังหลอดเลือดแดงหนาขึ้นจะทำให้ขาดออกซิเจน ผิวหนังจะบางลง แผลหายช้า บางครั้งเป็นมากจนหลอดเลือดอุดตัน ทำให้เนื้อเยื่อส่วนปลายตายและมีสีคล้ำดำขึ้น จนต้องตัดนิ้ว หรือส่วนที่แห้งดำนั้นหลุดออกไปเองเลยก็มี ซึ่งปัจจุบันผู้ป่วยเบาหวานก็มีแนวโน้มการถูกตัดขาเพิ่มขึ้นจากการเป็นแผลที่เท้า

ผู้ป่วยเบาหวานที่อยู่ในกระบวนการรักษา ดูแลตนเองตลอดเวลา จนมีระดับน้ำตาลในเลือดใกล้เคียงกับภาวะปกติจะช่วยลดโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อน (หัวใจ สมอง ทางเดินปัสสาวะ ตา ช่องปาก เท้า ฯลฯ) ช่วยให้มีชีวิตได้ยืนยาวมากขึ้น ซึ่งการควบคุมเบาหวานให้ดีนั้นยังส่งผลกระทบดี ๆ ต่อร่างกายได้อีกมาก เช่น

  • มีเรี่ยวแรงและพละกำลังมากขึ้น
  • ลดอาการเหนื่อยหอบผิดปกติและลดกระหายน้ำผิดปกติ
  • ลดอาการปัสสาวะบ่อย
  • แผลหายเร็วขึ้น
  • ลดโอกาสการติดเชื้อที่ผิวหนังและทางปัสสาวะ

ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุลาดพร้าว

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

*
*