Every day

7:00 - 18:00

Call us

0970405069 , 0956416356

โรคมะเร็งปอด

มะเร็งปอดเป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดในโลกและเป็นโรคที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในกลุ่มโรคมะเร็ง (โดยเฉลี่ยประมาณ 1 ใน 5 ของผู้ป่วยที่เป็นมะเร็ง) และมีอัตราส่วนระหว่างการเสียชีวิตต่อจำนวนผู้ป่วยสูงถึง 0.87 สำหรับในประเทศไทยมะเร็งปอดเป็นมะเร็งที่พบสูงสุดเป็นอันดับ 1 ในเพศชาย และเป็นอันดับต้นๆรองจากมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งเต้านมในเพศหญิง นอกจากนี้มะเร็งปอดยังเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตจากมะเร็งมากที่สุดทั้งในเพศชายและหญิง อัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยแตกต่างกันออกไปขึ้นกับระยะของโรค สุขภาพโดยรวม และปัจจัยอื่นๆ โดยผู้ป่วยส่วนมากที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งปอดจะเสียชีวิตภายในปีแรกเนื่องจากผู้ป่วยส่วนมากมักได้รับการวินิจฉัยเมื่ออยู่ในระยะท้ายเพราะอาการของโรคคล้ายโรคอื่น ทั้งนี้อัตราการรอดชีวิตที่หนึ่งปีของผู้ป่วยมะเร็งปอดในประเทศไทยโดยรวมน้อยกว่า20%

มะเร็งปอดเป็นโรคซึ่งมีการเจริญของเซลล์ในเนื้อเยื่อปอด อย่างควบคุมไม่ได้ การเจริญนี้นำไปสู่การแพร่กระจาย มีการรุกรานเข้าไปในเนื้อเยื่อข้างเคียงและแทรกซึมเข้าไปในอวัยวะนอกปอด มะเร็งปอดส่วนใหญ่เป็นมะเร็งชนิดเยื่อบุ คือเจริญมาจากเซลล์เนื้อเยื่อบุผิว มะเร็งปอดมักปรากฏอาการเมื่อเนื้อร้ายลุกลามเป็นวงกว้างในระยะที่ 3 – 4 อาการที่พบบ่อยที่สุดของโรคมะเร็งปอดคืออาการเหนื่อย ไอ รวมถึงไอเป็นเลือด น้ำหนักลดและหายใจลำบาก มะเร็งปอดมีอยู่ 2 ชนิดใหญ่คือ มะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก (Small cell lung cancer) พบประมาณ 15% และมะเร็งปอดชนิดเซลล์ไม่เล็ก (Non-small cell lung cancer; NSCLC) พบได้ 85% ของมะเร็งปอดทั้งหมด โดยมะเร็งปอดชนิดเซลล์ไม่เล็กมีโอกาสตรวจพบโรคในระยะต้นได้มากกว่ามะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก

  1. การสูบบุหรี่ หรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีควันบุหรี่: ประมาณร้อยละ 85-90 ของผู้ป่วยมะเร็งปอดเกิดจากปัจจัยนี้
  2. อายุ: ประมาณ 2 ใน 3 ของผู้ป่วยมะเร็งปอดได้รับการวินิจฉัยเมื่อมีอายุตั้งแต่ 65 ขึ้นไป (โดยเฉลี่ยประมาณ 70 ปี)
  3. การสัมผัสกับก๊าซเรดอน: เรดอนเป็นธาตุกัมมันตรังสีที่เป็นก๊าซเฉื่อย สามารถพบทั่วไปในอากาศ ซึ่งอาจพบสะสมในตัวอาคารบ้านเรือน การสัมผัสก๊าซนี้เป็นสาเหตุหลักในการก่อโรคมะเร็งปอดในผู้ป่วยที่ไม่สูบบุหรี่
  4. การสัมผัสสารก่อมะเร็ง: ยกตัวอย่างเช่น การหายใจเอาแร่ใยหินหรือควันจากท่อไอเสียเข้าสู่ร่างกาย การหายใจหรือบริโภคสารเคมีบางชนิด (อาเซนิค ถ่านหิน) หรือการสัมผัสสารยูเรเนียม
  5. การรักษาด้วยการฉายแสงที่ทรวงอก: ยกตัวอย่างเช่น ในผู้ป่วยที่เป็นโรค Hodgkin lymphoma หรือผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดเต้านมเพื่อรักษาโรคมะเร็งเต้านม
  6. บุคคลที่มีสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งปอด
  7. มลภาวะทางอากาศ: ประมาณร้อยละ 5 ของผู้ป่วยมะเร็งปอดเกิดจากปัจจัยนี้

อาการแสดงของโรคมะเร็งปอดอาจถูกเข้าใจผิดว่ากับบางโรค เช่น การติดเชื้อ หรือเป็นผลมาจากการสูบบุหรี่เป็นระยะเวลานานได้ โดยอาการแสดงที่พบส่วนมากมักจะเกิดเมื่อโรคดำเนินไปถึงระยะลุกลามแล้ว อาการที่พบบ่อยคือ

    1. ไอเรื้อรัง
    2. ไอพร้อมมีเลือดออกมา
    3. เจ็บหน้าอก
    4. หายใจได้สั้นๆ
    5. น้ำหนักลดโดยหาสาเหตุไม่ได้
    6. เหนื่อยง่าย อ่อนแรง

โรคมะเร็งปอดอาจตรวจพบได้จากการถ่ายภาพรังสีทรวงอกและการทำซีทีสแกน การยืนยันการวินิจฉัยทำโดยการตัดชิ้นเนื้อปอดออกมาตรวจ การตัดชิ้นเนื้อปอดส่วนใหญ่ทำโดยส่องกล้องหลอดลมเพื่อเก็บชิ้นเนื้อหรือการเจาะชิ้นเนื้อโดยใช้ผลตรวจซีทีช่วยนำทาง

การตัดชิ้นเนื้อเพื่อวิเคราะห์ (biopsy)

  • การใช้เข็มขนาดเล็กตัดชิ้นเนื้อ (fine-needle aspiration)
  • การส่องกล้องตรวจภายในหลอดลม (bronchoscopy)
  • การใช้เข็มเจาะช่องเยื่อหุ้มปอดแทงผ่านผนังทรวงอก (thoracentesis)
  • การตรวจช่องกลางทรวงอกโดยการส่องกล้อง (mediastinoscopy)
  • การตรวจช่องทรวงอกโดยการส่องกล้อง (thorocoscopy)

การตรวจวินิจฉัยด้วยรังสี

  • การตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) และการตรวจโดยใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI): เป็นวิธีที่ช่วยให้แพทย์หาตำแหน่งและขนาดของก้อนเนื้อที่ผิดปกติในบริเวณปอดได้
  • การตรวจด้วยเครื่อง PET scan (positron emission tomography scan): เป็นการฉีดโมเลกุลของสารกัมมันตภาพรังสีที่รวมกับน้ำตาลเข้าทางเส้นเลือด เซลล์มะเร็งปอดจะดูดซึมเอาน้ำตาลชนิดนี้ไว้อย่างรวดเร็วและมากกว่าเซลล์ปกติ ทำให้เกิดความแตกต่างของการเรืองแสงเฉพาะเซลล์มะเร็ง

การรักษาและพยากรณ์โรค

การพยากรณ์โรคขึ้นกับชนิดของเนื้อเยื่อมะเร็ง ระยะของโรค ขนาดของก้อนมะเร็งและระดับความสามารถของผู้ป่วย

การรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก (small cell lung cancer, SCLC)

  • การรักษาด้วยเคมีบำบัดเป็นการรักษาที่จำเป็นในผู้ป่วยกลุ่มนี้ เนื่องจากการแพร่กระจายของโรคไปยังอวัยวะอื่นๆรวดเร็วมาก
  • ในผู้ป่วยที่โรคยังไม่แพร่กระจาย การรักษาด้วยเคมีบำบัดควบคู่กับการฉายแสงจะให้ผลการรักษาที่ดีกว่าการรักษาด้วยเคมีบำบัดเพียงอย่างเดียว

การรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดชนิดเซลล์ไม่เล็ก (non-small cell lung cancer, SCLC)

  • การรักษาจะขึ้นกับชนิดของเนื้อเยื่อมะเร็ง ระยะของโรค และระดับความสามารถของผู้ป่วย
  • ในผู้ป่วยที่ระยะการดำเนินไปของโรคยังไม่มากและไม่มีการแพร่กระจายของโรค การรักษามักทำโดยการผ่าตัด การฉายแสงหรือเคมีบำบัด
  • ในผู้ป่วยที่มะเร็งปอดอยู่ในระยะลุกลาม มักจะได้รับการตรวจการกลายพันธุ์ของยีนร่วมด้วย โดยผู้ป่วยที่มีการกลายพันธุ์ของยีนควรได้รับการรักษาด้วยการรักษาแบบเฉพาะเจาะจง (targeted therapy) และผู้ป่วยที่ไม่พบการกลายพันธุ์ของยีนควรได้รับการรักษาด้วยเคมีบำบัด

ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุลาดพร้าว

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

*
*