Every day

7:00 - 18:00

Call us

0970405069 , 0956416356

โรคเก๊าท์

โรคข้ออักเสบที่คุณไม่ควรมองข้าม

โรคเก๊าท์ โรคข้ออักเสบที่คุณไม่ควรมองข้าม

กินไก่แล้วเป็นโรคเก๊าท์! ยังคงเป็นความเชื่อที่ติดอยู่ในใจใครหลายคนแน่ๆ แต่แท้จริงแล้วเนื้อไก่หรือสัตว์ปีกเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งที่อาจทำให้เกิดอาการเก๊าท์กำเริบ แล้วสาเหตุที่แท้จริงของโรคเก๊าท์เกิดจากอะไร? วันนี้เราจึงอยากพาคุณไปทำความรู้จักกับโรคเก๊าท์ให้มากยิ่งขึ้น เพื่อทำความเข้าใจโรคพร้อมแนะนำวิธีที่ช่วยให้คุณสามารถดูแลรักษาอาการของตัวเองและคนใกล้ชิดได้ดียิ่งขึ้น

สาเหตุที่ทำให้คุณเป็น “โรคเก๊าท์” (Gout)

โรคเก๊าท์ คือ โรคข้ออักเสบเฉียบพลันที่พบได้บ่อยโรคหนึ่งของมนุษย์ เกิดจากการที่ร่างกายมีกรดยูริกสูงเป็นระยะเวลานานจนทำให้เกิดการตกตะกอนของผลึกเกลือยูเรตตามเนื้อเยื่อต่างๆ ของร่างกาย โดยหากมีการตกตะกอนที่ข้อจะทำให้เกิดภาวะข้ออักเสบเฉียบพลัน ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการปวด บวม แดงร้อนบริเวณข้อที่เป็น ถ้าไปตกตะกอนที่ผิวหนัง ก็จะเกิดกลุ่มก้อนหรือปุ่มใต้ผิวหนัง เรียกว่า “ก้อนโทฟัส (Tophus)” 

โรคเก๊าท์เกิดจากอะไรได้บ้าง

สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคเก๊าท์ได้นั้น เรามักพบได้ 2 สาเหตุหลักๆ คือ

  1. ร่างกายสร้างกรดยูริกในปริมาณที่มากกว่าปริมาณที่ขับออก

กรดยูริกเป็นผลผลิตจากกระบวนการสลายสารพิวรีนในร่างกาย ซึ่งเป็นสารองค์ประกอบของสารพันธุกรรมที่เรียกว่า กรดนิวคลีอิก โดยหากผู้ป่วยมีเอนไซม์ในกระบวนการย่อยสลายสารพิวรีนผิดปกติจะทำให้เกิดกรดยูริกสูงตามมาได้ หรือผู้ป่วยบางคนได้รับอาหารที่มีสารพิวรีนสูง ซึ่งเป็นสารตั้งต้นในการสังเคราะห์กรดยูริก เช่น อาหารจำพวกเครื่องในทุกชนิด หรือการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ จะทำให้ร่างกายมีกระบวนการเผาผลาญแอลกอฮอล์ ทำให้ได้รับสารพิวรีนเพิ่มขึ้นและทำให้กรดยูริกสูงตามมา

  1. ร่างกายสร้างกรดยูริกเป็นปกติ แต่ขับออกจากร่างกายได้ลดลง

ในสภาวะปกติร่างกายจะขับกรดยูริกที่สร้างขึ้นออกทางไตประมาณ 2 ใน 3 และที่เหลือ 1 ใน 3 จะขับออกทางระบบทางเดินอาหาร จากการศึกษาในผู้ป่วยโรคเก๊าท์ พบว่าประมาณร้อยละ 90 เกิดจากร่างกายมีความผิดปกติในการขับกรดยูริกออกทางไต ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้มีภาวะกรดยูริกในเลือดสูงนั่นเอง

อาการของโรคเก๊าท์เป็นอย่างไร

อาการที่สำคัญของโรคเก๊าท์ คือ ข้ออักเสบเฉียบพลัน ผู้ป่วยจะมีอาการปวด บวม แดงร้อนที่ข้ออย่างชัดเจน ในบางรายอาจมีไข้ร่วมด้วย ประมาณร้อยละ 80 พบว่าข้ออักเสบเฉียบพลันจากเก๊าท์มักเป็นข้อเดียว ซึ่งข้อที่พบบ่อยคือ ข้อโคนนิ้วหัวแม่โป้งเท้า ข้อเท้า ข้อเข่า ผู้ป่วยบางคนจะมีอาการปวดทรมานมากจนไม่สามารถลงน้ำหนักบริเวณข้อได้ ในขณะที่ผู้ป่วยบางรายอาจให้ประวัติว่ามีปัจจัยบางอย่างที่กระตุ้นให้เกิดข้ออักเสบ เช่น ดื่มสุรา หรือรับประทานอาหารที่มีสารพิวรีนสูงปริมาณมาก

ในระยะแรกๆ ของโรคอาการข้ออักเสบจะเป็นไม่บ่อยนัก อาจเป็นเพียงปีละ 1-2 ครั้ง แต่เมื่อปล่อยให้กรดยูริกสูงเป็นระยะเวลานานและไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง อาการข้ออักเสบเฉียบพลันจะกำเริบบ่อยขึ้น ในแต่ละครั้งจะเป็นนานขึ้น และจะเริ่มพบการเกิดข้ออักเสบบริเวณข้อระยางค์บนของร่างกาย เช่น ข้อมือ ข้อศอก บางรายอาจมีข้ออักเสบเกิดขึ้นพร้อมกันหลายข้อก็ได้

นอกจากนี้หากปล่อยทิ้งไว้เป็นระยะเวลานาน จะทำให้มีการตกตะกอนของผลึกเกลือยูเรตตามเนื้อเยื่อต่างๆ ซึ่งในระยะแรกผลึกจะสะสมอยู่ในเยื่อบุข้อ ต่อมาจะสะสมบริเวณรอบๆ ข้อ รวมไปถึงใต้ผิวหนัง ทำให้เกิดกลุ่มก้อนหรือปุ่มใต้ผิวหนัง เรียกว่า “ก้อนโทฟัส” พบได้บ่อยที่นิ้วเท้า ตาตุ่ม เอ็นร้อยหวาย ข้อศอก นิ้วมือ รวมไปถึงใบหู ซึ่งส่งผลเสียต่อบุคลิกภาพ และบางครั้งอาจแตกออกมาเป็นผงคล้ายชอล์ก ทำให้เกิดแผลเรื้อรังและติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อนได้ ที่สำคัญก้อนโทฟัสเหล่านี้ยังสามารถกัดกร่อนกระดูก ทำให้เกิดข้ออักเสบเรื้อรัง ข้อผิดรูป และมีภาวะทุพพลภาพตามมา

นอกเหนือจากอาการที่เกิดขึ้นบริเวณข้อ การมีกรดยูริกสะสมในร่างกายมากเป็นเวลานาน จะทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนเหล่านี้ได้ เช่น นิ่วจากกรดยูริกในระบบทางเดินปัสสาวะ ถ้ามีการตกตะกอนในเนื้อไตจะทำให้เกิดภาวะไตอักเสบเรื้อรัง นำไปสู่ภาวะไตเสื่อม นอกจากนี้หากกรดยูริกในเลือดสูงจะเพิ่มโอกาสเกิดโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูงและภาวะหลอดเลือดแดงแข็งได้มากกว่าคนปกติ

วิธีการดูแลรักษาโรคเก๊าท์ และการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต

สำหรับแนวทางการรักษาเมื่อเป็นโรคเก๊าท์ จุดประสงค์ของการรักษาจะขึ้นอยู่กับระยะของโรค ได้แก่ การรักษาในระยะข้ออักเสบเฉียบพลัน การรักษาเพื่อป้องกันข้ออักเสบกำเริบซ้ำ และการให้ยาลดกรดยูริกในระยะยาว โดยยาแต่ละชนิดจะมีการใช้แตกต่างกัน ซึ่งแพทย์จะพิจารณาตามความเหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละราย

ผู้ป่วยควรปฏิบัติตัวอย่างไรเมื่อเป็นโรคเก๊าท์

  1. เมื่อเกิดข้ออักเสบเฉียบพลันไม่ควรบีบนวดข้อที่อักเสบ เพราะนอกจากจะทำให้หายช้ากว่าปกติแล้ว อาจทำให้มีอาการรุนแรงมากยิ่งขึ้น แต่สามารถประคบเย็นบริเวณข้อที่อักเสบได้
  2. ควรดื่มน้ำเปล่าอย่างน้อยวันละ 2 ลิตร (ในผู้ป่วยที่ค่าการทำงานของไตปกติ) ซึ่งจะช่วยในการขับกรดยูริกทางไตเพิ่มขึ้น
  3. ลดน้ำหนักในผู้ป่วยที่มีภาวะน้ำหนักเกินและมีโรคอ้วน
  4. รักษาโรคร่วม เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง เนื่องจากยาบางชนิดที่ใช้ในการรักษาโรคเหล่านี้มีคุณสมบัติช่วยในการลดกรดยูริกร่วมด้วย
  5. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

เป็นโรคเก๊าท์ ห้ามกินอาหารอะไรบ้าง?

ผู้ป่วยโรคเก๊าท์ควรให้ความสำคัญกับอาหารการกินในแต่ละมื้อ เพราะอาหารบางชนิดอาจเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดเก๊าท์กำเริบได้ โดยแนะนำให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเกี่ยวกับอาหาร ดังนี้

  • งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด โดยเฉพาะเบียร์
  • งดเครื่องดื่มที่มีส่วนประกอบของน้ำตาลฟรุกโตส เช่น น้ำอัดลม, น้ำผลไม้เข้มข้น, ซอสมะเขือเทศ และแยมผลไม้ เป็นต้น
  • งดรับประทานอาหารที่มีสารพิวรีนสูง (อาหารที่มีพิวรีนมากกว่า 150 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักอาหาร 100 กรัม) เช่น เครื่องในสัตว์ทุกชนิด, ไข่ปลาทุกชนิด, ปลากระป๋อง, กุ้งแห้ง, กะปิ, น้ำสต๊อก, น้ำซุปเข้มข้น และซุปก้อนปรุงรส เป็นต้น
  • ลดปริมาณอาหารที่มีสารพิวรีนปานกลาง (อาหารที่มีพิวรีน 50-150 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักอาหาร 100 กรัม) เช่น เนื้อแดงทุกชนิด อาหารทะเล เป็นต้น

แม้ว่าโรคเก๊าท์จะเป็นโรคที่มีความอันตรายและสามารถเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ได้ แต่ก็ยังเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายได้ การรักษาโรคเก๊าท์ให้ได้ผลดีนั้นจะเกิดขึ้นได้เมื่อสามารถลดระดับกรดยูริกในเลือดให้อยู่ในระดับต่ำติดต่อกันเป็นเวลานาน นอกจากการควบคุมอาหารแล้ว การรับประทานยาอย่างต่อเนื่องเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ผู้ป่วยหายจากโรคนี้ได้ หากคุณเริ่มมีสัญญาณของโรคเก๊าท์ดังที่ได้กล่าวมา ควรพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับคำแนะนำและทำการรักษาอย่างถูกต้องต่อไป

ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุลาดพร้าว

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

*
*