Every day

7:00 - 18:00

Call us

0970405069 , 0956416356

ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุลาดพร้าวห่วงอาการเป็นตะคริว

ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุลาดพร้าว

ตะคริวคืออะไร? ผู้สูงอายุถึงชอบเป็นตอนกลางคืน?

ตะคริว (Muscle cramps) คือ ภาวะที่กล้ามเนื้อหดเกร็ง จนเกิดเป็นก้อนแข็ง ซึ่งเกิดขึ้นกับกล้ามเนื้อส่วนใดก็ได้ แต่ส่วนมากจะเกิดขึ้นบริเวณน่องและขา ส่งผลให้เกิดอาการปวด หรือเจ็บกล้ามเนื้อบริเวณนั้น โดยตะคริวจะเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน และไม่สามารถล่วงรู้หรือบังคับ ให้เกิดหรือไม่เกิดขึ้นได้ โดยตะคริวมักจะเป็นในระยะเวลาสั้น ๆ ชั่วขณะหนึ่ง หลังจากนั้นอาการเจ็บปวดต่าง ๆ จะค่อย ๆ ทุเลาลงไปเอง แต่ในบางรายก็ใช้ระยะเวลานานกว่าจะทุเลาลง หรือบางรายอาจจะเป็นตะคริวได้บ่อย จนทำให้เกิดความทรมานหรือรู้สึกหงุดหงิดได้
ตะคริว เกิดจาก อะไร ทางการแพทย์ยังไม่สามารถระบุถึงสาเหตุที่ชัดเจนได้ แต่สันนิษฐานว่า เกิดจากการที่เอ็นและกล้ามเนื้อไม่ได้ยืดตัวบ่อย ๆ จึงทำให้มีการหดรั้งหรือเกร็งได้ง่าย หรืออาจเกิดจากการที่เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงกล้ามเนื้อได้ไม่ดี (อ้างอิงข้อมูลจาก โรงพยาบาลเปาโล) อีกทั้ง จากการศึกษาพบว่า มีหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อการเกิดตะคริวในผู้สูงอายุ และเป็นสาเหตุทำให้เกิดตะคริวในตอนกลางคืน ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุลาดพร้าวมีคำตอบมาบอก
1.ผู้สูงอายุอยู่ในท่าเดิมเป็นเวลานาน ไม่ค่อยได้ขยับ
2.เซลล์กล้ามเนื้อเสื่อมถอย ตามอายุที่มากขึ้น
3.ขาดการออกกำลังกาย มวลกล้ามเนื้อจึงลดลง หรือออกกำลังกายโดยที่ไม่ได้มีการยืดกล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้อตึงเกินไป
4.ดื่มน้ำน้อย หรือดื่มแอลกอฮอล์ (ทำให้เพิ่มการขับน้ำทางปัสสาวะ) ทำให้เซลล์กล้ามเนื้อขาดน้ำ
5.ภาวะเกลือแร่ในเลือดต่ำ จากอาการท้องเสีย อาเจียน เสียเหงื่อมากจากการทำงาน หรืออากาศที่ร้อน
6.การได้รับบาดเจ็บที่กล้ามเนื้อ อาจเกิดจากการกระทบกระแทก จนเกิดการฟกช้ำที่กล้ามเนื้อ
7.ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด เช่น ยาขับปัสสาวะ ยาลดความดัน ยาขยายหลอดลม ยารักษาโรคกระเพาะ
8.ภาวะหลอดเลือดแดงส่วนปลายแข็ง หรือหลอดเลือดตีบตัน จึงส่งผลให้การไหลเวียนของเลือดไม่ดี กล้ามเนื้อจึงขาดเลือด
9.โรคประจำตัว เช่น โรคพาร์กินสัน โรคโลหิตจาง โรคเบาหวาน โรคตับ โรคไต เป็นต้น

เมื่อผู้สูงอายุเป็นตะคริว จะช่วยเหลืออย่างไรได้บ้าง?

เวลาที่เจอผู้สูงอายุที่บ้านเป็นตะคริว ผู้ดูแลหลายคนมักจะบรรเทาอาการปวดด้วยการบีบหรือนวด แต่บางครั้งบีบนวดไปเท่าไหร่ ผู้สูงอายุก็ยังปวดอยู่เหมือนเดิม จริงๆแล้วตะคริวมีวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ที่ผู้ดูแลสามารถทำได้ไม่ยาก หรือแม้แต่ผู้สูงอายุก็สามารถทำได้ด้วยตนเอง
เริ่มจากการพักการใช้งานกล้ามเนื้อส่วนที่เป็นตะคริวทันที โดยให้กล้ามเนื้อส่วนนั้นอยู่นิ่ง ๆ ไม่เคลื่อนไหว
ค่อย ๆ ยืดเหยียดกล้ามเนื้อส่วนที่เป็นตะคริวช้า ๆ เพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้น เช่น ถ้าผู้สูงอายุเป็นตะคริวที่น่อง จะสังเกตเห็นปลายเท้าจิกชี้ลงพื้น ให้พยายามค่อย ๆ ดันปลายเท้าขึ้น แล้วกระดกช้าๆ
ให้ใช้มือค่อยๆ นวดส่วนที่เป็นตะคริว เพื่อช่วยคลายกล้ามเนื้อ หากกล้ามเนื้อมีการหดเกร็งมาก ให้ใช้น้ำอุ่นประคบบริเวณที่เป็นตะคริว เพื่อช่วยบรรเทาอาการลง
เมื่อตะคริวหายแล้ว แล้วพบว่าผู้สูงอายุยังมีอาการปวดอยู่ ซึ่งเกิดจากตอนที่เป็นตะคริวกล้ามเนื้อหดเกร็งมาก ให้ผู้สูงอายุกินยาแก้ปวดพาราเซตามอล และช่วยทายานวด เพื่อบรรเทาอาการปวด
หากพบว่าผู้สูงอายุเป็นตะคริวบ่อย จนรบกวนการนอนทำให้ต้องตื่นกลางดึก หรือนอนไม่หลับ ควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและแนวทางรักษา เพราะไม่อย่างนั้น จะทำให้ผู้สูงอายุพักผ่อนได้ไม่เพียงพอ จนเกิดผลเสียทั้งทั้งร่างกาย อารมณ์ และจิตใจได้

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

*
*