Every day

7:00 - 18:00

Call us

0970405069 , 0956416356

การดูแลเท้าในผู้ป่วย

เนื่องจากเบาหวานเป็นสาเหตุสำคัญของการถูกตัดเท้า การดูแลรักษาผู้ป่วยเบาหวานอย่างถี่ถ้วน ร่วมกับการให้คำแนะนำเรื่องการดูแลรักษาเท้าด้วยตนเองแก่ผู้ป่วย คือการป้องกันก่อนผู้ป่วยต้องตัดเท้าจากโรคเบาหวานได้

  • มีผู้ป่วยเบาหวานถึงร้อยละ 20 ที่ต้องรับไว้ในโรงพยาบาลเนื่องจากมีแผลที่เท้า
  • โรคเบาหวานเป็นสาเหตุของการถูกตัดเท้าหรือขา ร้อยละ 40-70
  • ผู้ป่วยเบาหวานที่ถูกตัดเท้าร้อยละ 85 เริ่มจากการมีแผลที่เท้ามาก่อน
  • ทุกๆ 30 วินาที มีผู้ป่วยเบาหวานสูญเสียเท้าจากการถูกตัด
  • ผู้ป่วยเบาหวานมีความเสี่ยงในการถูกตัดเท้าสูงกว่าผู้ไม่เป็นถึง 40 เท่า

โรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่มีความรุนแรง ในปี 2546 มีผู้ป่วยเบาหวานทั่วโลกประมาณ 194 ล้านคน ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 333 ล้านคน ในปี 2568 เนื่องจากประชากรมีอายุขัยยาวนานขึ้น การไม่ค่อยออกกำลังกาย และการรับประทานอาหารที่ไม่ถูกหลักจากการที่ผู้ป่วยเบาหวานมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมาก จำนวนผู้ป่วยที่มีภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวานก็เพิ่มขึ้นตาม รวมถึงปัญหาเกี่ยวกับเท้าด้วย ซึ่งถ้าไม่ได้รับความสนใจ จะต้องมีผู้ป่วยที่ถูกตัดเท้าเพิ่มขึ้นอย่างมาก

การให้การดูแลรักษาเท้าอย่างเหมาะสม ร่วมกับการให้คำแนะนำดูแลเท้าด้วยตนเองกับผู้ป่วยเบาหวาน จะเป็นวิธีที่ช่วยลดการถูกตัดเท้าได้ ซึ่งจะประกอบด้วย..

  • การป้องกัน
  • การรักษาแผล (หลายวิธีร่วมกัน)
  • องค์กร หรือสถาบันที่เหมาะสม
  • การติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด
  • การให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วยเบาหวานและบุคลากรผู้ดูแลรักษาโรคเบาหวาน

ด้วยการผสมผสานวิธีการดังกล่าว คาดว่าจะสามารถลดอัตราการถูกตัดเท้าลงได้ร้อยละ 49-85 ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่ต้องดูแลเท้าให้ดีขึ้น โดยเน้นที่การป้องกันและให้ความรู้

ประมาณการณ์ว่า ร้อยละ 6.3 ของประชากรโลกเป็นเบาหวาน ในแต่ละปีมีผู้ป่วยเสียชีวิตโดยสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับโรคเบาหวานมากกว่า 3 ล้านรายทั่วโลก และปัจจุบันถือว่าเบาหวานเป็นสาเหตุของการตายเป็นอันดับต้นๆ ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว

ผู้ป่วยเบาหวานมีความเสี่ยงที่จะเกิดเส้นประสาทเสื่อม (ภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาท) และมีภาวะเลือดไปเลี้ยงที่เท้าไม่เพียงพอ (ภาวะขาดเลือด) ซึ่งทั้งสองภาวะนี้เป็นเหตุทำให้เกิดแผลที่เท้าและหายยาก ซึ่งเมื่อมีการติดเชื้อก็อาจต้องลงเอยด้วยการตัดเท้า

ผู้ป่วยเบาหวานเกิดแผลที่เท้าได้บ่อย ในประเทศพัฒนาแล้วพบว่าผู้ป่วยเบาหวานร้อยละ 5 จะมีแผลที่เท้า และมีผู้ป่วยเบาหวาน 1 รายในทุกๆ 6 รายที่เคยเกิดแผลอย่างน้อย 1 ครั้ง ปัญหาที่เกี่ยวกับเท้าของผู้ป่วยเบาหวานเป็นสาเหตุสำคัญของการรับผู้ป่วยให้นอนในโรงพยาบาล สำหรับประเทศที่กำลังพัฒนาแบบบ้านเรา ปัญหาเกี่ยวกับเท้าในผู้ป่วยเบาหวานดูจะยิ่งพบบ่อย และรุนแรงยิ่งขึ้น

มีผู้ป่วยที่ถูกตัดเท้าถึงครึ่งหนึ่งที่เป็นเบาหวาน ถึงแม้ว่าจะมีปัจจัยอื่นๆเกี่ยวข้องอีก เช่น เชื้อชาติ ภูมิอากาศ และสภาพแวดล้อมทางสังคม ที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการถูกตัดเท้า ก็ยังพบว่าการถูกตัดเท้าในผู้ป่วยเบาหวานจะสูงกว่ากรณีอื่นๆ จึงถือว่าการเกิดแผลที่เท้าในเบาหวาน ส่งผลบั่นทอนคุณภาพชีวิตอย่างมาก

สำหรับผู้ที่สูญเสียขานั้น พบว่าชีวิตจะเปลี่ยนแปลงตลอดไป เพราะต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากบุคคลอื่น อาจต้องสูญเสียงาน และอยู่ในสภาพน่าสังเวช

การดูแลรักษาเท้าอย่างดี สามารถป้องกันการถูกตัดเท้า ในผู้ป่วยเบาหวานได้เป็นส่วนใหญ่ โดยที่ถึงแม้ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการถูกตัดเท้าได้ แต่ก็สามารถที่จะดูแลรักษาเท้าข้างที่ยังเหลือและดำรงชีวิตอย่างมีความสุขต่อไปได้ โดยการดูแลติดตามที่ดีจากทีมดูแลสุขภาพเท้า

  • การให้ความรู้เพื่อให้สามารถ ตรวจพบปัญหาตั้งแต่ระยะเริ่มต้น
  • การให้การบริการฉุกเฉิน
  • การตรวจหาภาวะติดเชื้อ และให้การรักษาแต่ต้น
  • การควบคุมเบาหวานอย่างดีที่สุด
  • การดูแลรักษาแผลโดยผู้เชี่ยวชาญ

แผลที่เท้าในผู้ป่วยเบาหวานก่อให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจที่สำคัญ ถ้าต้องถูกตัดเท้าก็จะทำให้ต้องนอนโรงพยาบาลนานขึ้น ต้องทำกายภาพบำบัด และยังต้องอาศัยการดูแลที่ดีทั้งที่บ้านและการบริการทางสังคม ซึ่งนับเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมาก

  • เส้นประสาทเสื่อม / ถูกทำลาย (ภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาทส่วนปลายจากเบาหวาน)

ภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาทส่วนปลาย ทำให้ไม่รู้สึกเจ็บปวดเท้าชาและเมื่อมีการบาดเจ็บก็อาจไม่ได้สังเกต เพราะไม่รู้สึกเจ็บปวดผิวหนังที่เท้ามักจะแห้งมาก และเกิดรอยแตกได้ง่าย ซึ่งนำไปสู่การเกิดแผลและการติดเชื้อ โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีเส้นประสาทเสื่อมแล้วไม่ได้สวมรองเท้าที่เหมาะสมก็จะยังเกิดแผลง่ายขึ้น

  • เท้าและนิ้วเท้าผิดรูป

คนเรามีรูปร่างเท้าที่แตกต่างกัน รูปเท้าอาจเปลี่ยนได้ตั้งแต่กำเนิดหรือเกิดจากการสวมรองเท้าที่ไม่เหมาะสม หรือเกิดจากการผ่าตัด ถ้ามีภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาทก็อาจทำให้มีการเปลี่ยนแปลงรูปเท้าได้ และยังทำให้มีการเดินแบบผิดปกติที่เพิ่มแรงกระแทกต่อส่วนส้นเท้า ถ้าแรงกระแทกเกิดซ้ำๆ ก็จะทำให้ ผิวหนังบริเวณนั้นหนาแข็งขึ้น (ตาปลา) ซึ่งตาปลานั้นจะทำให้แรงกดเพิ่มขึ้น จนทำให้เกิดแผลภายใต้ตาปลานั้นได้

  • ภาวะขาดเลือดหล่อเลี้ยง (ภาวะแทรกซ้อนของหลอดเลือดส่วนปลายจากเบาหวาน)

ถ้าเลือดไปหล่อเลี้ยงส่วนเท้าได้น้อย หรือไม่เพียงพอ จะทำให้แผลหายยาก เพราะเท้าต้องการออกซิเจนและสารอาหารที่ลำเลียงมาทางเส้นเลือด ภาวะขาดเลือดจะเพิ่มความเสี่ยงให้เนื้อเยื่อถูกทำลายและตายได้ ซึ่งจะทำให้เท้าส่วนนั้นกลายเป็นสีดำได้

  • ภาวะบาดเจ็บ (อาจเริ่มจากเล็กน้อย)

ผู้ป่วยที่มีเส้นประสาทเสื่อมจะเกิดบาดเจ็บได้ง่าย เพราะจะไม่รู้สึกเจ็บปวดซึ่งเป็นสัญญาณเตือนอันตราย แผลมักเกิดจากมีเศษกรวดทรายหรือชิ้นส่วนแปลกปลอมภายในรองเท้า ตะเข็บด้านในรองเท้า วัตถุมีคมที่แทงทะลุพื้นรองเท้าขึ้นมา ตุ่มพองจากการเสียดสีของรองเท้าหรือไฟลวก น้ำร้อนลวก การเดินเท้าเปล่าก็จะยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บให้รุนแรงขึ้น เนื่องจากโดนวัตถุแหลมคมทิ่มตำ หรือสะดุดนิ้วเท้าของตนเองได้ง่าย

  • ภาวะติดเชื้อ

เมื่อผิวหนังมีรอยปริแยก ทำให้เชื้อแบคทีเรียเข้าไปก่อภาวะติดเชื้อได้ ผู้ป่วยเบาหวานที่มีอาการชาที่เท้าหรือขาดเลือดไปเลี้ยง จะยิ่งทำให้แผลหายยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีกลไกคต่อต้านภาวะติดเชื้อเสื่อมด้วย บางครั้งกว่าจะพบว่าภาวะติดเชื้อเกิดขึ้นก็เป็นค่อนข้างรุนแรงแล้ว

การดูแลเท้าที่ดีสามารถป้องกันการแผลและถูกตัดเท้าได้ร้อยละ 45-85 ผู้ป่วยที่มีเส้นประสาทเสื่อม หรือขาดเลือดไปเลี้ยงเกิด ควรใช้คำแนะนำต่อไปนี้

  • ตรวจเท้าทุกวัน สำรวจรอยขีดข่วน รอยบาด ตุ่มน้ำพอง รอยฟกช้ำ หรือมีสีผิวเปลี่ยนแปลงไป อาการบวมและแผลเปิด ถ้ามีควรแจ้งให้แพทย์ผู้ดูแลรับทราบทันที อาจใช้กระจกเงาหงายดูฝ่าเท้า หรือถ้าไม่สะดวกควรขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น
  • ล้างทำความสะอาดเท้าด้วยสบู่กับน้ำเปล่าทุกวัน โดยเฉพาะบริเวณซอกนิ้วเท้า จากนั้นเช็คหรือเป่าให้แห้งอย่างระมัดระวัง ใช้น้ำมันหรือโลชั่นทาผิวหนังบริเวณเท้า เพื่อให้ผิวอ่อนนุ่ม หลีกเลี่ยงบริเวณซอกนิ้วเท้า
  • ตรวจสอบภายในรองเท้าก่อนสวมใส่ทุกครั้ง เพื่อขจัดสิ่งแปลกปลอม โดยเฉพาะเศษก้อนหิน วัตถุแหลมคม หรือสังเกตว่ามีส่วนที่ขรุขระมาขูดข่วนเท้าหรือไม่
  • ควรสวมถุงเท้าเพื่อป้องกันการเสียดสี บาดเจ็บ โดยถุงเท้า ไม่ควรจะรัดแน่นเกินไปและไม่มีรูโหว่
  • เลือกซื้อรองเท้าคู่ใหม่ในช่วงบ่าย เพื่อให้เท้าขยายตัวเต็มที่และเลือกรองเท้าได้ขนาดที่เหมาะสมพอดีกับเท้า
  • ตรวจสอบเท้าโดยทีมดูแลสุขภาพเป็นระยะ
  • ตัดเล็บเท้าตรงในแนวขวาง แล้วใช้ตะไบลมคมที่ปลายเล็บ
  • ถ้ามีแผล ควรทำความสะอาดและปิดแผลด้วยวัสดุที่ฆ่าเชื้อแล้ว
  • ระมัดระวังโดยสวมรองเท้าทุกขณะ ไม่ว่าจะอยู่ภายในบ้าน หรือนอกสถานที่ เพื่อหลีกเลี่ยงภยันตรายต่อเท้า
  • ควรเลี่ยงรองเท้าปลายแหลม ส้นสูง มีรูเปิด ไร้สายรัด หรือไม่หุ้มส้นด้านหลัง
  • ไม่สวมถุงเท้าที่รัดแน่นเกินไป
  • ห้ามใช้กระเป๋าน้ำร้อน หรือเครื่องทำความร้อนประคบหรือเป่าที่เท้า
  • หลีกเลี่ยงการเดินเท้าเปล่า แต่ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ ต้องเดินอย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเหยียบย่ำบนผิวทางเดินที่ร้อนจัด
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาทาตาปลา ยาจี้หูด หรือมีดโกนกับเท้าด้วยตนเอง ควรปรึกษาแพทย์ก่อน
  • ลดหรือควบคุมน้ำหนักไม่ให้มากเกินไป
  • งดสูบบุหรี่ เนื่องจากทำให้หลอดเลือดตีบ เลือดไปเลี้ยงเท้าน้อยลง
  • ไม่สวมเครื่องประดับที่เท้า

การรักษาผู้ป่วยเบาหวานที่มีแผลที่เท้า ทำได้โดย..

  • ลดการลงน้ำหนักที่เท้า
  • แก้ไขภาวะขาดเลือดไปเลี้ยงที่เท้า
  • รักษาภาวะติดเชื้อ
  • ควบคุมระดับน้ำตาล ไขมันในเลือด และระดับความดันให้ดี
  • ทำความสะอาดแผล และทำแผล รวมถึงการตัดเอาเนื้อเยื่อชิ้นส่วนที่บาดเจ็บ และตายแล้วออก
  • อบรมความรู้ให้ผู้ป่วยเบาหวานและญาติ
  • หาสาเหตุการเกิดแผล และช่วยหาวิธีป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ

ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุลาดพร้าว

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

*
*