Every day

7:00 - 18:00

Call us

0970405069 , 0956416356

ภาวะกลืนลำบากในผู้สูงอายุ

วัยสูงอายุเป็นวัยที่มีความเปลี่ยนแปลงทั้งทางกายภาพและระบบการทำงานต่างๆ ของร่างกาย รวมถึงความสามารถในการกลืนของผู้สูงอายุด้วยเช่นกัน ภาวะกลืนลำบากเป็นภาวะที่เกิดจากอวัยวะที่ควบคุมการกลืนผิดปกติหรือทำงานบกพร่อง เป็นสาเหตุนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญ ได้แก่ ภาวะปอดอักเสบจากการสำลัก ทางเดินหายใจอุดกั้น ภาวะทุพโภชนาการ ภาวะขาดน้ำ ภาวะพึ่งพิง ภาวะซึมเศร้า คุณภาพชีวิตลดลง

จะทราบได้อย่างไรว่าผู้สูงอายุมีภาวะกลืนลำบาก

สามารถสังเกตลักษณะทางคลินิกของผู้สูงอายุได้ ดังนี้

  • น้ำลายไหล มีอาหารหรือน้ำไหลออกจากปากหรือจมูก
  • มุมปากตก เบี้ยว หรือปิดปากไม่สนิท
  • การเคี้ยวอาหารบกพร่อง
  • รู้สึกกลืนไม่หมด หรือกลืนติด
  • มีอาหารตกค้างในช่องปาก คอหอย
  • มีการเคลื่อนไหวของลิ้นบกพร่อง ลิ้นอ่อนแรง
  • ไม่สามารถกลืนได้ หรือกลืนได้ช้ากว่าปกติ
  • เสียงเปลี่ยน เสียงเครือ ไอ สำลักก่อน ระหว่าง หรือหลังกลืนน้ำหรืออาหาร
  • เสียงแหบ เสียงขึ้นจมูก
  • ทานอาหารได้ช้าลง

นอกจากนี้อาจพบได้ว่า มีอาการกลืนของแข็งลำบากกว่าของเหลว หรืออาจมีอาการเรอ กรดไหลย้อน แสบหน้าอก กลืนแล้วเจ็บ หรือเบื่ออาหารได้

แนวทางการดูแลผู้ที่มีภาวะกลืนลำบากเบื้องต้น

  1. การดูแลสุขภาพช่องปาก การดูแลสุขภาพช่องปากเป็นส่วนสำคัญในการรักษาภาวะกลืนลำบาก เนื่องจากช่องปากจะมีการสะสมของแบคทีเรีย หากหมั่นทำความสะอาดภายในช่องปากจะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดปอดอักเสบจากการสำลักได้ โดยในผู้ที่ไม่สามารถบ้วนปากหรือแปรงฟันได้ ควรเช็ดทำความสะอาดช่องปากและลิ้นหลังทานอาหารทุกมื้อ เพื่อนำเศษอาหารที่ค้างในช่องปากออกให้หมด หากบ้วนปากได้ให้ใช้น้ำยาบ้วนปากที่ไม่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์เพื่อลดอาการปากแห้ง
  2. การออกกำลังกายกล้ามเนื้อที่ใช้ในการกลืน เนื่องจากกำลังของกล้ามเนื้อในการกลืนในผู้สูงอายุจะลดลงไปตามวัย จึงควรบริหารกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับการกลืน โดยสามารถทำได้ดังนี้
  • การบริหารริมฝีปากและเพดานอ่อน เช่น อ้าปาก-ปิดปาก, ฉีกยิ้ม-ปิดปาก, แก้มป่อง-ปิดปาก, เม้มปาก
  • การบริหารลิ้น เช่น ลิ้นแตะมุมปากซ้าย-ขวา, ลิ้นแตะริมฝีปากบน-ล่าง, แลบลิ้น-ดึงลิ้นกลับ, เดาะลิ้น
  • การบริหารขากรรไกร เช่น อ้าปากค้าง, ขยับขากรรไกรไปด้านข้างซ้าย-ขวา
  • การบริหารเส้นเสียง เช่น ออกเสียง “อี” โดยเริ่มไล่เสียงจาดระดับเสียงต่ำไปหาระดับเสียงสูง ทำช้าๆ และค้างระดับเสียงสูงที่สุดไว้นาน 10-20 วินาที ทำซ้ำ 5-10 รอบ
  • การบริหารกล้ามเนื้อคอหอย เช่น Shaker exercise โดยให้นอนราบกับพื้นหรือเตียงแล้วให้ยกศีรษะขึ้นจนเห็นนิ้วเท้าโดยไม่ยกไหล่ทั้ง 2 ข้าง นับค้าง 1-10 แล้วพัก ทำซ้ำต่อเนื่องกัน 30 ครั้ง เป็นต้น (ไม่เหมาะกับผู้สูงอายุที่มีความดันโลหิตสูง)
  1. การกระตุ้นรับความรู้สึก การใช้ไม้พันสำลีจุ่มน้ำเย็นจัดประมาณ 10 วินาที จากนั้นนำมานวดกระตุ้นบริเวณผนังกั้นต่อมทอลซิลด้านหน้า (anterior faucial arch) และกดน้ำหนักลงปานกลาง เลื่อนขึ้น-ลง 3-5 ครั้ง จากนั้นวางนิ้วชี้และนิ้วกลางที่่ลูกกระเดือก แล้วให้ผู้ป่วยกลืนน้ำลาย จะรู้สึกว่ากล่องเสียงถูกยกตัวขึ้น
  2. การใช้เทคนิคช่วยกลืน เป็นการจัดท่าให้ศีรษะและลำตัวของผู้ป่วย เพื่อช่วยชดเชยกลไกการกลืนที่บกพร่องไป โดยท่าทางสำหรับการกลืนที่ปลอดภัย คือ นั่งตัวตรง 90 องศา และจัดท่าทางของศีรษะ ดังนี้
  • การหันศีรษะไปด้านที่อ่อนแรง สำหรับผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีก เพื่อปิดทางเดินอาหารด้านอ่อนแรง เมื่อกลืนอาหารมันจะลงสู่ด้านที่แข็งแรงกว่า
  • การเอียงศีรษะไปด้านที่ดี สำหรับผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีก ซึ่งเมื่อกลืนอาหาร มันจะลงสู่คอหอยด้านที่แข็งแรงกว่า
  • การก้มหน้าขณะกลืน จะช่วยให้ปิดทางเดินหายใจ และทำให้อาหารผ่านจากระยะช่องปากเข้าช่องคอหอยได้ง่ายปละปลอดภัยมากขึ้น
  • ในบางรายอาจกระตุ้นกลืนให้แรงขึ้น (effortful swallow) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการกลืน

ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุลาดพร้าว

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

*
*