Every day

7:00 - 18:00

Call us

0970405069 , 0956416356

โรคตาที่ผู้สูงวัยควรระวัง

ปัญหาเรื่องสายตาที่เกิดขึ้นในผู้สูงอายุก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ดวงตาเริ่มเสื่อมตามอายุตั้งแต่วัยผู้ใหญ่อายุ 40 ปีขึ้นไป ยิ่งอายุมากขึ้นจะพบความเสื่อมและโรคตาได้มากตามวัย จึงควรระวังใส่ใจรักษาสุขภาพตา เพื่อป้องกันไม่ให้สุขภาพดวงตาเสื่อมโทรมจนเสี่ยงต่อการเกิดโรคตาชนิดต่าง ๆ ทั้งที่มีระดับความรุนแรงน้อย ไปจนถึงระดับความรุนแรงมากที่อาจนำไปสู่การตาบอด

  1. สายตาสูงวัย หรือสายตายาวตามอายุ (Presbyopia) คนที่มีปัญหาสายตายาวเมื่อถึงวัย 40 ปีขึ้นไปหรือเรียกว่า สายตาผู้สูงอายุ เกิดจากการที่เลนส์แก้วตาแข็งขึ้น ความยืดหยุ่นน้อยลงตามอายุที่มากขึ้น ประกอบกับกล้ามเนื้อตาเสื่อมสภาพตามวัย อ่อนล้าลง ทำให้เลนส์แก้วตาไม่สามารถปรับตัวให้พองขึ้นหรือแบนลงเพื่อช่วยในการโฟกัสภาพได้เหมือนเดิมจึงไม่สามารถมองเห็นภาพในระยะใกล้ได้ชัดเจน มีความยากลำบากในการมองระยะใกล้ อาทิ การอ่านหนังสือ เมนูอาหาร ป้ายราคาสินค้า การทานอาหาร เขี่ยก้างปลา การเขียนคิ้ว (Eyeliner) การใช้โทรศัพท์มือถือหรือคอมพิวเตอร์ การขับรถ การเย็บผ้า เป็นต้น ทำให้ไม่สามารถเพ่งมองใกล้ได้เหมือนตอนอายุยังน้อย

อาการสายตายาว

  • มองเห็นวัตถุระยะใกล้ไม่ชัด ต้องหรี่ตาเมื่อมองใกล้ และอาจมองเห็นไม่ชัดทั้งใกล้และไกลเมื่อเป็นมากขึ้น
  • ไม่สบายตา ปวดตาและรอบดวงตา หรือปวดศีรษะจากการโฟกัสเพ่งมองระยะใกล้เป็นเวลานาน
  • มองภาพไม่ชัดเวลากลางคืน
  • มีปัญหาในการอ่านหนังสือ
  1. ต้อกระจก (Cataract) ต้อกระจกเป็นภาวะการเปลี่ยนแปลงที่เกิดการขุ่นของ “เลนส์ตา” ปกติเลนส์ตาจะมีลักษณะใส ทำหน้าที่ช่วยในการรวมแสงให้ตกลงบนจอประสาทตาพอดี เมื่อเกิดต้อกระจก ทำให้แสงไม่สามารถเข้าไปในตาได้ตามปกติ ทำให้การมองเห็นไม่ชัดเจนหรือมีอาการตามัว

อาการต้อกระจก

  • มองไม่ชัดอย่างช้า ๆ ไม่มีการอักเสบหรือปวด มองเห็นมัวเหมือนมีฝ้าหรือหมอกบัง มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับระดับและตำแหน่งของความขุ่นในเนื้อเลนส์
  • ภาพซ้อน สายตาพร่า เกิดจากความขุ่นของเลนส์แก้วตาไม่เท่ากัน การหักเหของแสงไปที่จอประสาทตาจึงไม่รวมเป็นจุดเดียว ในผู้ป่วยบางรายจะมีสายตาสั้นมากขึ้นเรื่อย ๆ จนทำให้ต้องเปลี่ยนแว่นตาบ่อย ๆ บางรายสายตาสั้นขึ้นจนกลับมาอ่านหนังสือได้โดยไม่ต้องใส่แว่น
  • สู้แสงสว่างไม่ได้ มองเห็นแสงไฟกระจาย โดยเฉพาะขณะขับรถในตอนกลางคืน
  • มองเห็นสีต่าง ๆ ผิดเพี้ยนไปจากเดิม ต้องการแสงสว่างมากขึ้นในการมอง
  • เมื่อต้อกระจกสุก อาจสังเกตเห็นเป็นสีขาวตรงรูม่านตา ซึ่งปกติเห็นเป็นสีดำ หากละเลยทิ้งไว้จนต้อกระจกสุกเกินไป อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น โรคต้อหิน การอักเสบภายในตา ซึ่งทำให้เกิดอาการปวดตา ตาแดง และอาจถึงขั้นสูญเสียการมองเห็นได้
  1. ต้อหิน (Glaucoma) เป็นโรคของดวงตาชนิดหนึ่งที่เกิดจากความเสื่อมของเส้นประสาทตา หรือเส้นประสาทตาถูกทำลาย โดยเป็นเส้นประสาทที่เชื่อมระหว่างตากับสมอง ปัจจัยหลักมาจากความดันในลูกตาสูง ซึ่งเกิดจากการระบายน้ำออกของลูกตามีการอุดตันและเสื่อมสภาพ ทำให้ระบายน้ำออกจากลูกตาได้ไม่ดีพอ ส่งผลให้ความดันภายในลูกตาเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ จนทำลายประสาทตาในที่สุด โดยอาการของโรคจะมีลักษณะและความรุนแรงแตกต่างกันไปตามประเภทของต้อหินที่เป็น ซึ่งต้อหินสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย และมีอุบัติการณ์เพิ่มขึ้นตามอายุ แต่จะเกิดขึ้นบ่อยในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีประวัติของคนในครอบครัวเป็นต้อหิน หรือผู้ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน เป็นต้น

อาการต้อหิน

  • ปวดตาหรือปวดศีรษะ และตาพร่า เมื่อใช้สายตานาน ๆ
  • การมองเห็นทางตรงยังปกติ แต่ด้านข้างจะค่อย ๆ แคบเข้ามา
  • ประสิทธิภาพการกะระยะทางสายตาลดลง มักเดินชนสิ่งของบ่อย ๆ

หากเป็นต้อหินแบบเฉียบพลัน อาจมีอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย ซึ่งพบในผู้หญิงเอเชียค่อนข้างมาก

  1. น้ำวุ้นตาเสื่อม (Vitreous Degeneration) เป็นโรคที่พบได้บ่อยและเป็นกันมาก โดยปกติลูกตาจะมีวุ้นตา อยู่ภายในช่องตาส่วนหลังเพื่อคงรูปร่างของลูกตา ตั้งแต่เกิดวุ้นตาจะมีลักษณะเป็นเจลหนืด ใส ยึดติดกับจอตาที่บุอยู่ภายในลูกตาโดยรอบ ซึ่ง 99% ของวุ้นตาเป็นน้ำ ส่วนที่เหลือประกอบด้วยโปรตีน เส้นใย เช่น คอลลาเจน กรดไฮยาลูโรนิก และสารเกลือแร่ต่าง ๆ เมื่อเข้าสู่วัยกลางคนหรืออาจจะเร็วขึ้นในบางภาวะ วุ้นตาจะเสื่อมตัวกลายสภาพเป็นน้ำ เส้นใยไฟเบอร์ขนาดเล็กในตาจะหดจับกันเป็นก้อนตะกอนขุ่น และวุ้นตาจะลอกออกจากผิวจอตา ทำให้เห็นเป็นเงาดำ อาจเป็นจุดเล็ก ๆ เส้น ๆ หรืออาจเป็นวง ๆ ลอยไปมาในตา เรียกภาวะนี้ว่า Posterior Vitreous Detachment (PVD) ซึ่งเกิดจากการหลุดลอกของวุ้นตาที่เกาะอยู่เป็นวงรอบขั้วประสาทตา

ขณะที่วุ้นตาลอกตัวจากจอตา อาจมีการฉีกขาดของหลอดเลือดบริเวณจอตา ทำให้มีเลือดออกในวุ้นตาและเกิดเป็นเงาดำบังการมองเห็นบางส่วน หรือหากมีการดึงรั้งของวุ้นตาที่จอตาบางบริเวณที่ยึดติดแน่น อาจทำให้เกิดการฉีกขาดที่จอตา พบได้ 10 – 20% ของผู้ป่วยที่มีวุ้นตาเสื่อม ซึ่งมักทำให้มีอาการเห็นแสงไฟวาบขึ้นในตา โดยจะเห็นชัดเจนในที่มืด หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษาจะนำไปสู่ภาวะจอตาหลุดลอก ซึ่งอาจมีอาการเห็นคล้ายม่านบังตาบางส่วน และทำให้สูญเสียการมองเห็นอย่างถาวรได้

อาการวุ้นตาเสื่อม

  • จุดที่เกิดขึ้นสามารถเกิดขึ้นได้หลากหลายรูปแบบ ได้แก่ จุดสีดำหรือสีเทา เป็นเส้นเกลียว ใยแมงมุม หรือวงแหวน
  • เมื่อเคลื่อนไหวดวงตา จุดต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นก็จะเคลื่อนที่ด้วยเช่นกัน แต่หากตั้งใจที่จะมองไปยังจุดดังกล่าว ก็จะหายไปจากการมองเห็นอย่างรวดเร็ว
  • จุดต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจะสังเกตได้ชัดเจนเมื่อไปยังพื้นผิวที่เป็นสีพื้นและสว่าง เช่น ท้องฟ้าหรือกำแพงสีขาว
  1. จุดรับภาพเสื่อมตามวัย (Age – Related Macular Degeneration : AMD) เป็นกลุ่มโรคที่เกิดจากการเสื่อมของบริเวณจุดภาพชัดของจอตา ทำให้สูญเสียการมองเห็นส่วนกลางของภาพ หากพบในผู้มีอายุ 50 ปี ขึ้นไป จะเรียกว่า “โรคจุดภาพชัดที่จอตาเสื่อมในผู้สูงอายุ” (Age related Macular degeneration) ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้กลุ่มผู้สูงอายุสูญเสียการมองเห็น

อาการจุดรับภาพเสื่อมตามวัย

  • สูญเสียการมองเห็นเฉพาะภาพตรงส่วนกลาง โดยที่ภาพด้านข้างของการมองเห็นยังดีอยู่ เช่น อาจเห็นขอบของนาฬิกา แต่ไม่สามารถบอกได้ว่า เป็นเวลาอะไร
  • มองเห็นจุดดำตรงกลางภาพ
  1. เบาหวานขึ้นตา (Diabetic Retinopathy) เป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นจากโรคเบาหวาน พบในผู้ป่วยเบาหวาน โดยมีสาเหตุจากการที่น้ำตาลในเลือดสูง ทำให้หลอดเลือดและระบบประสาทเสื่อมลง ส่งผลให้ชั้นจอประสาทในลูกตาเกิดความเสื่อม ถ้าทิ้งไว้ไม่ได้รับการรักษาจะทำให้ตามัวและตาบอดได้ ความน่าสนใจของโรคนี้คือ ผู้ป่วยเบาหวานบางคนไม่เคยตรวจตาจึงไม่ทราบว่าการมองเห็นแต่ละข้างเป็นอย่างไร เพราะโดยรวม 2 ข้างยังมองยังเห็นอยู่ แต่อาจมีด้านหนึ่งที่แย่กว่าแล้ว และบางคนรู้สึกว่ามองเห็นโดยรวมยังปกติจึงไม่มาพบจักษุแพทย์ ทำให้บางครั้งรักษาช้าเกินไปและตาบอดได้ในที่สุด (โดยทั่วไปผู้ป่วยเบาหวานต้องตรวจอย่างน้อยปีละครั้ง หรือบ่อยกว่านั้นถ้าเริ่มมีเบาหวานขึ้นตา) ซึ่งการตรวจคัดกรองและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ รวมถึงควบคุมโรคเบาหวานให้ดีจะช่วยลดความเสียหายและความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นได้กับตาและอวัยวะอื่น ๆ ซึ่งเบาหวานขึ้นตามีความรุนแรงแตกต่างกัน ถ้าเริ่มเข้าขั้นรุนแรง จักษุแพทย์สามารถยิงเลเซอร์ช่วยชะลอปัญหาเบาหวานขึ้นตาได้ หรืออาจมีการฉีดยาเข้าน้ำวุ้นตาเพื่อรักษาจุดรับภาพบวมจากเบาหวานขึ้นตาได้ การรักษาขึ้นอยู่กับระยะความรุนแรงของโรค ถ้าเป็นมากมีเลือดออกหรือจอตาหลุดลอกอาจต้องผ่าตัด

อาการเบาหวานขึ้นตา

ในระยะแรกของเบาหวานขึ้นตาอาจจะไม่มีอาการหรือความผิดปกติในการมองเห็น ทำให้ผู้ป่วยไม่รู้ตัวและละเลยการตรวจตา แต่มารู้ตัวอีกทีเมื่อเบาหวานเริ่มขึ้นตาแล้ว ซึ่งอาจพบอาการต่าง ๆ เช่น

  • มองเห็นจุดหรือเส้นสีดำคล้ายหยากไย่ลอยไปมา
  • มองเห็นภาพบิดเบี้ยว
  • ตามัว การมองเห็นแย่ลง สายตาไม่คงที่
  • แยกแยะสีได้ยากขึ้น
  • เห็นภาพมืดเป็นบางจุด
  • สูญเสียการมองเห็น

แต่ในบางรายอาจไม่มีอาการผิดปกติเลยแม้อยู่ในระยะรุนแรงแล้วก็ตาม

  1. ตาแห้ง (Dry Eyes) เป็นโรคตาที่พบได้บ่อยในกลุ่มสูงวัยและในวัยทำงาน มีอาการไม่สบายตา ระคายเคือง เหมือนมีสิ่งแปลกปลอมในตา แสบตาหรืออาจน้ำตาไหลมากได้ เกิดจากหลายสาเหตุ เช่น การทำงานผิดปกติของต่อมไขมันที่เปลือกตา (Meibomian Gland Dysfunction) การใส่คอนแทคเลนส์ การใช้หน้าจอคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์นาน ๆ การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน หรือโรคและการรับประทานยาบางชนิด พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย หากปล่อยไว้ไม่ได้รักษาอาจทำให้การมองเห็นมัวลง มีการอักเสบของเยื่อบุตาหรือกระจกตา สามารถตรวจวินิจฉัยได้โดยการตรวจตาอย่างละเอียดจากจักษุแพทย์ รวมทั้งอาจมีวัดปริมาณและคุณภาพของน้ำตา การรักษาตาแห้งขึ้นกับสาเหตุ มักต้องใช้น้ำตาเทียมร่วมด้วย ปรับพฤติกรรมการใช้งาน หรือประคบอุ่น นวด และทำความสะอาดเปลือกตากรณีมีเปลือกตาผิดปกติ

อาการตาแห้ง

  • ระคายเคืองตา ไม่สบายตา
  • แสบตา ตาล้าง่าย
  • ตาแดง มีขี้ตาเมือก ๆ ได้
  • ตาสู้แสงไม่ได้ น้ำตาอาจไหลมาก เพราะเคืองตา
  • ตามัว มองไม่ชัด ชัดบ้างไม่ชัดบ้าง
  • รู้สึกเหมือนมีสิ่งแปลกปลอมในดวงตา
  • ลืมตายาก รู้สึกฝืด ๆ ในตา (ในตอนเช้า)
  1. ต้อลม (Pinguecula) และต้อเนื้อ (Pterygium) เป็นเนื้อนูนที่เยื่อตาขาวข้างกระจกตาดำ ถ้าอยู่เฉพาะที่เยื่อบุตาขาว (Conjunctiva) เรียกว่า ต้อลม (Pinguecula) แต่หากรุกล้ำเข้ามาในกระจกตาดำ (Cornea) เรียกว่า ต้อเนื้อ (Pterygium) โดยต้อเนื้อจะมีลักษณะเห็นเป็นเนื้อสามเหลี่ยมโดยมีหัวอยู่ที่กระจกตา เนื้อเยื่อเหมือนเยื่อบุตาซึ่งมีเส้นเลือดวิ่งเข้าไปเกาะอยู่บนกระจกตาดำ อาจใหญ่หรือเล็กก็ได้ จะแดงมากน้อยขึ้นอยู่กับมีปริมาณเส้นเลือดมากหรือน้อย ทั้งต้อลมและต้อเนื้อส่วนใหญ่อยู่ที่บริเวณหัวตาด้านในใกล้จมูก แต่อาจจะเป็นได้ทั้งด้านหัวตาและหางตาพร้อมกัน

อาการต้อลมและต้อเนื้อ

  • ผู้ป่วยโรคต้อลมและต้อเนื้อที่ยังเป็นไม่มาก ส่วนใหญ่มักไม่มีอาการใด ๆ เพียงแต่จะเห็นเป็นเนื้อเยื่อผิดปกติบริเวณเยื่อบุตาขาวเท่านั้น แต่หากมีการอักเสบหรือเป็นมากขึ้น ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บตา เคืองตา คันตา แสบตา น้ำตาไหล ตาแดงขึ้น รู้สึกเหมือนมีเศษผงอยู่ในตาได้เป็นครั้งคราว การเจอลมแรง เผชิญฝุ่น ควัน ทรายเป็นประจำ ทำให้ต้อลมต้อเนื้อมีการอักเสบได้มากกว่าปกติ
  • ผู้ป่วยจะมีอาการตามัวและอาจเกิดสายตาเอียงได้ เนื่องจากต้อเนื้อดึงกระจกตา ทำให้ความโค้งของกระจกตาเปลี่ยนไป ถ้าต้อเนื้อเป็นมากจนลุกลามเข้าไปใกล้กลางกระจกตาและบดบังการมองเห็น สามารถเกิดกับดวงตาเพียงข้างเดียวหรือทั้งสองข้างก็ได้ และเกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัย

เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้นก็มีปัญหาเกี่ยวกับดวงตา ถึงแม้ว่าจะไม่ได้สร้างอาการเจ็บปวดรุนแรง หรือทำให้เสียชีวิต แต่ดวงตาก็ถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของคนเรา การที่เราดูแลผู้สูงอายุในบ้านให้ใช้ชีวิตในช่วงบั้นปลายชีวิตอย่างมีความสุขห่างไกลจากโรคภัยย่อมเป็นเรื่องที่ดีกว่า ผู้สูงอายุจึงควรตรวจคัดกรองความเสี่ยงเกี่ยวกับโรคตาเป็นประจำทุกปีเพื่อดูว่ามีภาวะผิดปกติที่ควรรักษาหรือไม่ ซึ่งการตรวจคัดกรองดวงตา ไม่เพียงช่วยให้ค้นพบความผิดปกติของดวงตาในระยะเริ่มแรก แต่ยังช่วยให้ค้นพบโรคเกี่ยวกับดวงตาในขณะที่ยังไม่แสดงอาการ จะได้ป้องกันรักษาอย่างเหมาะสม หรือชะลอความเสื่อม ป้องกันการสูญเสียดวงตาได้อย่างถาวร

ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุลาดพร้าว

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

*
*