Every day

7:00 - 18:00

Call us

0970405069 , 0956416356

ภาวะการเปลี่ยนแปลงของ

ผู้สูงอายุตามวัย

ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุลาดพร้าว

การเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย

ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุลาดพร้าว

การเปลี่ยนแปลงของร่างกาย เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ปรากฏเด่นและมีผลกระทบกับชีวิตของผู้สูงอายุมากที่สุด ความแตกต่างจะขึ้นอยู่กับบุคคล ดังนี้

  1. อวัยวะภายนอก ผมบางเปลี่ยนเป็นสีเทาหรือสีขาว หลังโกง เคลื่อนไหวร่างกายได้ช้าลง กำลังน้อยลง ผิวของผู้สูงอายุจะบาง แห้ง เหี่ยวย่น หลุดลอก ขาดความมันเงาและความยืดหยุ่น เล็บมือและเล็บเท้าของผู้สูงอายุจะแห้ง แข็ง เปราะฉีกง่าย เป็นแผลง่าย
  2. การมองเห็นไม่เหมือนเดิม เนื่องจากลูกตามีขนาดเล็กลง หนังตาตก รูม่านตาเล็กลง ปฏิกิริยาในการตอบสนองต่อแสงของม่านตาลดลง ทำให้การปรับตัวต่อที่มืดไม่ดี ความสามารถในการแยกสีแย่ลง เกิดโรคตาแห้งเกิดจากต่อมน้ำตาผลิตน้ำตาลดลง และเมื่อกล้ามเนื้อลูกตาเสื่อมส่งผลให้ผู้สูงอายุเกิดอาการวิงเวียนศีรษะได้
  3. การได้ยินเสียงลดลง เกิดภาวะหูตึง ไม่ได้ยิน เนื่องจากประสาทรับเสียงเสื่อมลงได้ยินเสียงโทนต่ำชัดกว่าเสียงพูดธรรมดา ลูกหลานเวลาพูดกับผู้สูงอายุ ควรเข้ามาใกล้ พูดช้าๆ ชัดๆ และดังกว่าปกติ แต่ไม่ตะโกน และไม่แสดงอาการหงุดหงิด หากต้องพูดซ้ำ
  4. การพูด การเปล่งเสียงของผู้สูงอายุจะไม่มีพลัง เนื่องจากกระดูกอ่อนบริเวณกล่องเสียงแข็งตัวและขาดความยืดหยุ่น
  5. การบด เคี้ยวลำบากขึ้น เพราะเหงือกร่น รากฟันโผล่พ้นขอบเหงือก ทำให้ฟันผุและเสียวฟันได้ง่าย
  6. กระดูกและกล้ามเนื้อ กระดูกผุกร่อนทำให้หักได้ง่าย กล้ามเนื้อก็ลีบเล็กลง มีไขมันแทรกในกล้ามเนื้อ
  7. การรับกลิ่นบกพร่อง ทำให้ไม่ได้กลิ่นอาหาร ผู้สูงอายุบางคนมีเลือดกำเดาไหลเนื่องจากความดันโลหิตสูง
  8. ระบบต่างๆ เสื่อมถอยลง เช่น ระบบประสาทเซลล์ ระบบทางเดินอาหาร ระบบการไหลเวียนโลหิต ทำงานได้ลดลง จึงเกิดโรคได้ง่าย

การเปลี่ยนแปลงของระบบภายในร่างกาย

การเปลี่ยนแปลงเมื่อเข้าสู่วัยผู้สูงอายุระบบภายใน มีดังนี้

  1. ระบบประสาท เมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ ระบบประสาทและสมองจะทำงานช้าลง ความสัมพันธ์ระหว่างสมองกับกล้ามเนื้อและข้อเริ่มสูญเสีย ทำให้การทรงตัวไม่ดี เกิดจากเซลล์ประสาทตายแล้วไม่มีการเกิดขึ้นใหม่อีก ทำให้ความจำแย่ ความสามารถการเรียนรู้ลดลง ปฏิกิริยาการตอบสนองต่อสิ่งต่างๆ ลดลง ความรู้สึกและการเคลื่อนไหวช้าไปด้วย
  2. ระบบหัวใจและหลอดเลือด ผู้สูงอายุหลอดเลือดแดงจะแข็งไม่ยืดหยุ่น ผนังหลอดเลือดขรุขระ ทางเดินภายในหลอดเลือดแคบลง เพราะผนังภายในหลอดเลือดหนาตัวขึ้น และหากหลอดเลือดมีไขมันอุดตันร่วมด้วยแล้ว ยิ่งจะทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้น เกิดภาวะความดันโลหิตสูง และมีโอกาสเกิดโรคหัวใจล้มเหลวได้ง่าย
  3. ระบบทางเดินหายใจ หายใจลำบาก รู้สึกเหนื่อยเวลาหายใจ ถ้าทำกิจกรรมที่ใช้กำลังมากจะรู้สึกหายไม่ทันเกิดจากความแข็งแรงกล้ามเนื้อช่วยหายใจลดลง การออกกำลังกายอย่างเหมาะสมก็ช่วยได้มาก
  4. ระบบทางเดินปัสสาวะ ผู้สูงอายุส่วนใหญ่มีปัญหากลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ปัสสาวะเล็ด เนื่องจากกระเพาะปัสสาวะมีขนาดเล็กลง ทำให้ต้องปัสสาวะบ่อย โดยเฉพาะผู้ชายมีปัญหาต่อมลูกหมากโตทำให้ช่วงกลางคืนต้องลุกมาปัสสาวะบ่อยและต้องเบ่งปัสสาวะนาน
  5. ระบบทางเดินอาหาร ฟันเกิดการกร่อน รากฟันเปราะแตกง่ายขึ้น มีอาการกลืนลำบากหรือสำลักได้บ่อย กระเพราะทำงานหนัก เพราะน้ำย่อยในกระเพาะอาหารน้อยลงทำให้อาหารต้องอยู่ในกระเพาะนานขึ้นและทำให้ท้องอืดง่าย
  6. ระบบต่อมไร้ท่อ มีการทำงานของต่อมต่างๆ น้อยลง เช่น ต่อมใต้สมอง ต่อมไทรอยด์ ทำให้ผลิตฮอร์โมนได้น้อยลง ตับอ่อนก็ผลิตอินซูลินน้อยลงทำให้น้ำตาลในเลือดสูง มีโอกาสเป็นเบาหวานมากขึ้น

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

*
*