อ่านไม่ผิด และมั่นใจว่าข้อมูลไม่ผิดแน่นอนครับ การสูบบุหรี่ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อสุขภาพปอด เพิ่มความเสี่ยงโรคมะเร็ง แต่สารนิโคตินในบุหรี่ยังส่งผลกระทบต่อเส้นเลือด ทำให้เส้นเลือดส่งผ่านเลือด ออกซิเจน และสารสำคัญต่างๆ ไปเลี้ยงกระดูกสันหลังได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ทำให้ผู้ที่สูบบุหรี่หนักมีโอกาสที่จะกระดูกสันหลังเสื่อม หมอนรองกระดูกสันหลังยุบไวกว่าคนในวัยเดียวกันที่ไม่สูบบุหรี่
กระดูกสันหลังเสื่อม เกิดจากอะไร?
คำถามต่อมาหลังจากอ่านประโยคข้างต้นก็มักจะถามว่า เอ๊ะ แล้วกระดูกสันหลังเสื่อม เกิดจากอะไร อธิบายง่ายๆ ก็คือการเสื่อมสภาพของกระดูก หมอนรองกระดูก ข้อต่อ เส้นเอ็นกระดูก และกล้ามเนื้อ บริเวณกระดูกสันหลัง ทำให้เกิดการโยกคลอนของกระดูกสันหลัง หรือเกิดการทรุด เกิดการกดเบียดของเส้นประสาทบริเวณกระดูกสันหลังนั่นเองครับ โดยส่วนมากจะพบได้ในผู้สูงอายุที่สภาพร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา แต่! ก็สามารถพบได้ใน
- ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก
- ผู้ที่ยกของหนักมากๆ เป็นประจำ
- ผู้ที่นั่งอยู่กับที่เป็นระยะเวลานาน เช่น พนักงานขับรถ พนักงานออฟฟิศ
เนื่องจากมีแรงกดทับบริเวณกระดูกสันหลังและข้อต่อกระดูกสันหลังต่อเนื่อง ทำให้สูญเสียความยืดหยุ่นและเสื่อมลงในที่สุดนั่นเอง และอีกปัจจัยที่ไม่ย้ำไม่ได้ ก็คือ ผู้ที่สูบบุหรี่หนัก ติดต่อกัน ดังที่กล่าวไปข้างต้นครับ
ปวดหลังแบบไหน ต้องระวังกระดูกสันหลังเสื่อม
อาการปวดหลังที่พบได้บ่อยกว่า 80% เป็นอาการปวดที่เกิดจากการใช้งาน ซึ่งมักจะมีอาการปวดเพียงชั่วคราว เมื่อหยุดพักการใช้งาน ก็จะมีอาการดีขึ้น อาการปวดหลังเหล่านี้ส่วนมากเกิดจากการอักเสบของกล้ามเนื้อ นั่งนาน หรือมีการเกร็ง หรือเอี้ยวตัวผิดจังหวะ แต่อาการปวดหลังที่เข้าข่ายเสี่ยงกระดูกสันหลังเสื่อมมักจะ
➔ ปวดหลังในทุกอิริยาบถ แม้จะไม่ได้เคลื่อนไหว หรือมีการใช้งานก็ยังรู้สึกปวด
➔ ปวดหลัง ร่วมกับการ ก้มเงยลำบาก เคลื่อนไหวได้น้อยลง รู้สึกแข็งตึงบริเวณหลัง
➔ ปวดร้าวไปที่บริเวณแขนขา หรือมีอาการแขนขาอ่อนแรงร่วมด้วย
➔ ปวดหลังติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน
การตรวจวินิจฉัยโรคกระดูกสันหลังเสื่อม
หากมีอาการตามที่ระบุข้างต้น ก็แนะนำให้รีบมาปรึกษาแพทย์ดีกว่าครับ โดยแพทย์ก็จะทำการซักประวัติพร้อมทำการตรวจร่างกาย เพื่อประเมินอาการเบื้องต้น และอาจพิจารณาใช้การตรวจเครื่องเอกซเรย์แม่เหล็กไฟฟ้า หรือ MRI เพื่อประเมินดูความผิดปกติบริเวณหมอนรองกระดูก ข้อต่อกระดูกสันหลัง ว่ามีการกดทับเส้นประสาทหรือไม่
กระดูกสันหลังเสื่อม รักษาได้ด้วยวิธีใดบ้าง?
แนวทางในการรักษาจะแตกต่างไปตามความรุนแรงของอาการที่พบโดยสามารถรักษาได้ด้วย
- การใช้ยาลดอาการปวดและต้านการอักเสบ เป็นวิธีการรักษาพื้นฐาน แต่ต้องระมัดระวังเรื่องการใช้ยาต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อไตได้
- การทำกายภาพบำบัด เพื่อบรรเทาอาการปวด และเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อบริเวณหลัง
- การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าโพรงกระดูกสันหลัง ช่วยลดอาการปวดได้ดี มักใช้ในกรณีที่มีอาการปวดจากเส้นประสาท หลังผู้ป่วยที่อาการรุนแรง แต่ยังไม่สามารถผ่าตัดได้
- การผ่าตัด โดยจะพิจารณาใช้การผ่าตัดในกรณีที่กระดูกสันหลังเสื่อมจนกดเส้นประสาท มีอาการปวดที่รุนแรง จนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งจะใช้การผ่าตัดด้วยวิธีใด ก็จะต้องพิจาณาจากรอยโรคและอาการที่พบ เช่น
– กรณีการกดทับเส้นประสาท ถ้าจุดที่โดนกดทับมีขนาดเล็ก ก็สามารถทำการผ่าตัดด้วยการส่องกล่องได้ โดยส่วนใหญ่กว่า 70% จะสามารถทำการรักษาด้วยการผ่าตัดส่องกล้องได้ ข้อดีของการส่องกล้อง คือ แผลเล็ก เจ็บน้อย ฟื้นตัวเร็ว โอกาสติดเชื้อน้อยกว่า กลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้เร็วกว่า
– กรณีกระดูกสันหลังเสื่อมแบบมีการโยกคลอน ต้องทำการยึดกระดูกสันหลัง ต้องทำการใส่อุปกรณ์เสริมในการรักษา ซึ่งสามารถทำการผ่าตัดได้ทั้งแบบการผ่าตัดแบบเปิด และการผ่าตัดใส่อุปกรณ์ดาม แบบแผลเล็ก
ไม่อยากกระดูกสันหลังเสื่อมก่อนวัย ดูแลตัวเองง่ายๆ ตามนี้
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่างเหมาะสม เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อบริเวณแกนกลางลำตัว
- ควบคุมน้ำหนักให้ค่า BMI อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
- หลีกเลี่ยงการนั่งหลังค่อม นั่งไขว่ห้าง หรือนั่งอยู่ในอิริยาบถเดิมๆ ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานๆ
- หลีกเลี่ยงการยกของหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการก้มยก เพราะจะทำให้เกิดแรงกดบริเวณกระดูกสันหลังมาก
- ลด ละ เลิก การสูบบุหรี่ ไม่เพียงลดโอกาสเสี่ยงกระดูกสันหลังเสื่อม แต่ยังลดความเสี่ยงสารพัดโรคร้ายได้อีกด้วย