ศูนย์ดูเเลผู้สูงอ ายุลาดพร้าวบอกเคล็ดลับการรับมือกับความดื้อของผู้สูงอายุ
เพราะผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายและจิตใจ ที่ทำให้เกิดพฤติกรรมด้านลบที่ส่งผลกระทบต่อคนรอบข้าง
พฤติกรรมของผู้สูงอายุที่มีการเปลี่ยนแปลง
พฤติกรรมขี้หงุดหงิด
-พฤติกรรมขี้หงุดหงิดสามารถพบได้ทั่วไปในผู้สูงอายุ โดยจะแสดงพฤติกรรมเอาแต่ใจ ดื้อ ไม่ยอมรับฟังผู้อื่น และรู้สึกหงุดหงิดเมื่อไม่ได้ดั่งใจ
พฤติกรรมเรียกร้องความสนใจ
-ผู้สูงอายุมักมีวิธีเรียกร้องความสนใจแตกต่างกันไป บางคนอาจต้องการให้ผู้ดูแลทำหลายอย่างพร้อมๆ กัน ชอบพูดตัดพ้อ ประชดประชัน ไม่ยอมรับประทานอาหาร ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้มักมีสาเหตุมาจากความเหงา ความกลัวว่าจะถูกทอดทิ้ง การไม่มีสังคม ซึ่งศูนย์ดูแลผู้สูงอายุลาดพร้าวคิดว่าจะทำให้ผู้สูงอายุขาดความมั่นใจในตัวเอง คิดว่าตนเองไม่เป็นที่รักหรือไม่มีประโยชน์ และแสดงพฤติกรรมเรียกร้องความสนใจคล้ายเด็กในที่สุด
5 วิธีรับมือผู้สูงอายุดื้อ
การรับมือกับผู้สูงอายุที่ดื้อ ฟังดูอาจจะไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเป็นการรับมือกับภาวะทางอารมณ์ของผู้สูงอายุ ซึ่งอาจจะปรวนแปรไม่แน่นอน แต่ไม่ใช่เรื่องยากจนรับมือไม่ได้ ซึ่งวิธีในการรับมือผู้สูงอายุดื้อนั้น มี 5 วิธีมาแนะนำ ดังนี้
1. ค้นหาสาเหตุ แก้ไขและทำความเข้าใจ
การที่ผู้สูงอายุดื้อ ไม่ฟังเหตุผลหรือคำอธิบายอะไรก็ตาม ก่อนอื่นคงต้องหาสาเหตุก่อนว่าเป็นเพราะความไม่เข้าใจ ความดื้อ อารมณ์แปรปรวน หรือสาเหตุอื่นๆ ซึ่งเริ่มต้นเราคงต้องค้นหาสาเหตุ เพื่อจะแก้ไขปัญหาได้ถูกจุด บางครั้งผู้สูงอายุอาจจะแค่เรียกร้องความสนใจ หรือน้อยใจ การดูแลเอาใจใส่ก็อาจจะแก้ไขปัญหาได้ ซึ่งผู้ที่ดูแลต้องทำความเข้าใจผู้สูงอายุในหลายๆ เรื่อง เพราะหากมีความเข้าใจ ก็จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ง่าย
2. สื่อสาร-พูดคุยอย่างเข้าใจ
การพูดคุยแบบแสดงความเข้าใจถึงปัญหา หรือภาวะที่ผู้สูงอายุกำลังเผชิญ หรือทำไมดื้อ จะช่วยทำให้การแก้ไขหรือรับมือกับผู้สูงอายุทำได้ง่าย บางครั้งอาจจะไม่ใช่ปัญหาร้ายแรง แต่ผู้สูงอายุต้องการได้รับความเอาใจใส่ เข้าใจ ต้องการมีคนรับฟังปัญหา ผู้ดูแลควรสนับสนุนให้ผู้สูงอายุได้มีโอกาสพูดคุย และแสดงความรู้สึกของพวกเขา เราควรฟังอย่างใจเย็น ให้ความสนใจ ซึ่งการใช้คำพูดต้องสุภาพ ระมัดระวังคำพูดที่จะส่งผลกระทบกระเทือนจิตใจผู้สูงอายุ ส่วนเครื่องมือในการสื่อสารกัน นอกจากการพูดคุยแล้ว ยังสามารถใช้วิธีการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น การเขียนข้อความส่งระหว่างกัน
3. ให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุ
การสร้างบรรยากาศที่เป็นกันเอง รวมถึงการทำให้ผู้สูงอายุมีความรู้สึกว่าเขายังมีความสำคัญ ทำให้รู้สึกถึงการได้รับการยอมรับ สนับสนุนการแสดงออกทางอารมณ์อย่างจริงใจ หลีกเลี่ยงการตัดสินใจแทนพวกเขา ทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกถึงคุณค่าของตัวเอง จะช่วยลดปัญหาผู้สูงอายุดื้อได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งผู้ดูแลคงต้องใช้จิตวิทยา หรือมีวิธีการพูด หรือแสดงออก ในการที่จะทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกว่าตัวเองยังมีความสำคัญ
4. หาตัวช่วยเข้ามาแก้ปัญหา
หลายครั้ง ผู้สูงอายุที่ดื้อ ไม่รับฟังคำแนะนำจากผู้ที่ดูแล อาจจะเป็นเพราะการไม่ให้การยอมรับในตัวผู้ดูแล หรือไม่เชื่อใจ ดังนั้น วิธีการรับมือกับเรื่องนี้ อาจจะจำเป็นจะต้องมีตัวช่วย หรือได้รับความช่วยเหลือจากบุคคลอื่น ไม่ว่าจะเป็นหมอ พยาบาล หรือบุคคลที่ผู้สูงอายุรักและให้ความเคารพ ในการช่วยให้คำแนะนำต่างๆ หรือแม้ผู้ให้บริการดูแลผู้สูงอายุมืออาชีพ ก็อาจจะเป็นวิธีช่วยแก้ปัญหาผู้สูงอายุดื้อได้เช่นกัน
5. สร้างบรรยากาศให้อารมณ์แจ่มใส
ผู้สูงอายุดื้อ บางครั้งก็มาจากสาเหตุของภาวะอารมณ์ไม่แจ่มใส เบื่อหน่าย หรือเศร้าเสียใจ หรือการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ทำให้จิตใจห่อเหี่ยว หงุดหงิด เบื่อหน่าย ดังนั้น จึงควรสร้างบรรยากาศให้ผู้สูงอายุอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีต่อสภาพจิตใจ อาจจะจัดสถานที่อยู่อาศัยให้น่าอยู่ มีบรรยากาศที่ดี หรือการพาผู้สูงอายุไปพักผ่อน หลีกหนีจากความจำเจกับการที่ต้องอยู่กับสภาพแวดล้อมเดิมๆ เช่น การพาไปท่องเที่ยว พักผ่อน ซื้อของ หรืออาจจะหากิจกรรมที่ผู้สูงอายุชื่นชอบทำ เช่น เต้นลีลาศ ร้องเพลง ทำบุญ ไหว้พระ เป็นต้น การได้เปลี่ยนสถานที่หรือการทำกิจกรรมที่ชื่นชอบ เป็นการเปลี่ยนอิริยาบถ จะช่วยให้จิตใจเบิกบาน อารมณ์ดี ลดความหงุดหงิด และเลิกเอาแต่ใจลงได้เหมือนกัน
ทั้งหมดนี้ ก็เป็นแนวทางการรับมือกับผู้สูงอายุดื้อ ซึ่งสิ่งสำคัญต้องเริ่มจากความเข้าใจ และการยอมรับ กับสภาพการเปลี่ยนแปลงทั้งทางร่างกายและจิตใจของผู้สูงอายุ ซึ่งส่งผลทำให้ผู้สูงอายุเกิดอาการดื้อ หรือต่อต้าน การใช้เวลา และความอดทน รวมถึงความเข้าใจผู้สูงอายุกับพฤติกรรมที่เกิดขึ้น จะช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ไม่ยากจนเกินไป