หลัก 5 อ. ดูแลผู้สูงอายุ
การปฏิบัติตนที่ถูกต้องและเหมาะสมตามหลักการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุตามหลัก 5 อ. ได้แก่
- อ.อาหาร
ผู้สูงอายุมีการเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ ซึ่งมีผลต่อการทานอาหารของผู้สูงอายุมาก การจัดเตรียมอาหารจะต้องคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงนี้ด้วย ในแต่ละวันผู้สูงอายุควรได้รับอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ รวมทั้งใยอาหารและน้ำ ซึ่งหลักการจัดเตรียมอาหารให้แก่ผู้สูงอายุ คือ ลดจำนวนปริมาณอาหารที่ให้พลังงานสูง เช่น ขนมหวาน ของเชื่อม และอาหารมันจัด เช่น ขาหมู ของทอดต่างๆ และแกงกะทิ นอกจากนี้ ควรงดชา กาแฟ เพราะจะทำให้หลับยาก และกาแฟยังทำให้ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดเพิ่มขึ้นอีกด้วย - อ.ออกกำลังกาย
โดยออกกำลังกายทุกสัดส่วน กระตุ้นจังหวะการเต้นของหัวใจ ผู้สูงอายุควรเคลื่อนไหวออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ออกกำลังกายอย่างเหมาะสมหลากหลายวิธี เช่น ยืดเส้นยืดสาย ยืดเหยียด ช่วยให้กล้ามเนื้อแข็งแรง เดินเร็ว ขี่จักรยาน ว่ายน้ำ เป็นต้น และหลีกเลี่ยงการแข่งขัน การออกแรงเกินกำลัง ความเร็วสูง เกร็ง เบ่ง ยกน้ำหนัก การอยู่ในสถานที่ร้อนอบอ้าว อากาศไม่ถ่ายเท อยู่กลางแดดจ้า - อ.อารมณ์
คือ อารมณ์รื่นเริงยินดี ชีวีสดใส ด้วยรอยยิ้ม จิตแจ่มใส มองโลกในแง่บวก ไม่เครียด ช่วยเหลือให้คำแนะนำแก่ลูกหลานและคนรอบข้าง - อ.อดิเรก
สร้างสรรค์งานอดิเรก เพิ่มพูนคุณค่า เกื้อกูลสังคม หากิจกรรมงานอดิเรกที่ชอบ ทำแล้วเพลิดเพลิน และมีคุณค่าทางจิตใจ เช่น อ่านหนังสือธรรมะ ฟังเทศน์ฟังธรรม พบปะสังสรรค์ ให้คำปรึกษาแนะนำ ฟังเพลง ปลูกต้นไม้ - อ.อนามัย
สร้างอนามัยดี ชีวีมีสุข นำพาอายุยืนยาว สร้างเสริมพฤติกรรมสุขภาพที่ดี หมั่นตรวจและรักษาสุขภาพ ปฏิบัติตนให้ถูกสุขลักษณะ โดยควรตรวจสุขภาพประจำปี แนะนำให้ตรวจสม่ำเสมอเป็นประจำทุกปีหรืออย่างน้อยทุก 3 ปี โดยแพทย์จะทำการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และอาจมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อหาปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดแข็ง เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง ตรวจหาโรคมะเร็งที่พบบ่อย ได้แก่ มะเร็งลำไส้ มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก และยังมีตรวจการมองเห็น การได้ยิน ตลอดจนประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุด้วย