กระในผู้สูงอายุเกิดได้อย่างไร?
มักสังเกตเห็นว่า ผู้สูงอายุที่มีอายุมากๆ มักมีกระบริเวณใบหน้า และผิวส่วนต่างๆ ของร่างกาย ราวกับว่าเป็นสัญลักษณ์ของความสูงวัยไปเสียแล้ว
กระ เป็นสิ่งที่พบได้ในผู้คนทุกเพศทุกวัย แต่จะพบมากในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้ที่มีเชื้อชาติผิวขาว และผมสีอ่อน กระในผู้สูงอายุ หรือกระแดด เป็นรอยสีน้ำตาลเข้ม และมักพบในผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป
การเกิดกระในผู้สูงอายุ
กระในผู้สูงอายุ เกิดจากการที่เซลล์ถูกกระตุ้นจากแสงแดดเป็นเวลานาน ทำให้มีการแบ่งตัวเพิ่มขึ้นและสร้างเม็ดสีมากขึ้น ผิวหนังบริเวณนั้นจึงมีสีเข้มกว่าบริเวณโดยรอบ แต่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ หรือเป็นโรคติดต่อใดๆ กระที่พบในผู้สูงอายุ มีลักษณะเป็นผื่นราบ สีน้ำตาลเข้มกว่าผิวหนัง และมีขอบเขตชัดเจน มีขนาดใหญ่กว่า 1 เซนติเมตร แต่ก็อาจเล็กกว่าได้ ส่วนใหญ่จะพบในบริเวณที่ถูกต้องแสงแดดได้ง่าย เช่น โหนกแก้ม หลังมือ และแขน ซึ่งไม่ขยายบริเวณ ไม่เจ็บ คัน บวม หรือเป็นแผล
การรักษา
กระในผู้สูงอายุ ไม่มีความร้ายแรง หรือไม่ใช่โรค จึงไม่มีผลข้างเคียงใดๆ แต่หากเป็นกระที่ผิดปกติ เช่น มีจุดขาว เป็นต้น ควรไปพบแพทย์ เพราะอาจกลายไปเป็นมะเร็งผิวหนัง หรือโรคทางผิวหนังอื่นๆ ได้ ในผู้ที่เป็นกระ ควรใส่ใจเรื่องโรคที่อาจเกิดขึ้นกับผิวหนัง เนื่องจากการเป็นกระ สะท้อนให้เห็นว่า ผิวถูกทำร้ายจากแสงแดดมายาวนาน หากผู้สูงอายุอยากรักษากระ สามารถใช้ครีมไวเทนนิ่งได้ ซึ่งอาจช่วยให้จางลงได้บ้าง แต่การรักษาให้ได้ผลจริงๆ คือ การใช้เลเซอร์ หรือการจี้รอยโรคด้วยความเย็น
การป้องกันและการดูแลตนเอง
การดูแลง่ายๆ สำหรับผู้ที่เป็นกระ คือหมั่นดูแลเรื่องความสะอาดของผิวหนัง และอย่าลืมทาครีมกันแดดสม่ำเสมอ เพราะผู้ที่มีกระแดด มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งสูง อีกทั้งต้องคอยสังเกตว่ากระที่ผิวของคุณมีความผิดปกติหรือไม่ เช่น สี มีขนาดโตขึ้น ขอบขรุขระ เป็นรอยแผลแตก มีเลือดออก เป็นต้น หากมีลักษณะดังกล่าวให้รีบพบแพทย์ทันที สำหรับผู้ที่ยังไม่เป็นกระ ควรหลีกเลี่ยงแสงแดดจัด และป้องกันด้วยการใส่หมวกปีกกว้าง พยายามอยู่ในที่ร่ม หรือสวมเสื้อผ้าที่ปกปิด รวมทั้งใช้ครีมกันแดดเป็นประจำ แม้กระแดด หรือกระที่พบในผู้สูงอายุ จะไม่มีความร้ายแรง หรือไม่มีผลข้างเคียงใดๆ แต่ก็อาจนำไปสู่โรคผิวหนัง หรือมะเร็งได้ ดังนั้น คุณควรดูแลปกป้องผิวจากแสงแดดเสียแต่เนิ่นๆ ก็จะช่วยป้องกันโรคที่อาจเกิดขึ้นกับผิวหนังของคุณได้