นอกจากอาการเหนื่อยง่ายและเจ็บหน้าอกแล้ว อาการไอเป็นอาการแสดงอีกอย่างหนึ่งที่บ่งบอกว่า ผู้ป่วยกำลังเป็นโรคระบบทางเดินหายใจ อาการไอเป็นอาการของโรคที่พบบ่อยที่สุด เป็นกลไกของร่างกายที่พยายามขับสิ่งแปลกปลอมที่อาจเป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ รวมทั้งเชื้อโรค เช่น วัณโรคให้ออกไปจากร่างกาย ในขณะที่การไอลดปริมาณเชื้อโรคในร่างกายของคนผู้ป่วย แต่ก็เป็นการแพร่เชื้อต่อไปให้ผู้อื่นด้วยเช่นกัน
ระบบหายใจของมนุษย์มีหน้าที่ 2 อย่าง คือ นำออกซิเจนเข้าไปเลี้ยงร่างกายเพื่อให้มีชีวิตและขับถ่ายของเสียคือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อันเป็นผลจากการเผาไหม้เชื้อเพลิง (น้ำตาล ฯลฯ) เพื่อใช้เป็นพลังงานออกไป ถ้าปอดไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ มนุษย์จะมีชีวิตอยู่ไม่ได้ เพราะร่างกายจะได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ และมีภาวะกรดเกินจากการคั่งของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือด
โดยทั่วไปแบ่งระบบทางเดินหายใจออกเป็น 2 ส่วน คือ
- ทางเดินหายใจส่วนบน (Upper Respiratory Tract) คือ ส่วนตั้งแต่กล่องเสียง (Larynx) ขึ้นไป ประกอบด้วย จมูก ลำคอ กล่องเสียง
- ทางเดินหายใจส่วนล่าง (Lower Respiratory Tract) คือ ส่วนที่อยู่ใต้กล่องเสียง (Larynx) ลงมา ประกอบด้วยหลอดลมตั้งแต่หลอดลมใหญ่ (Trachea) ลงไปจนถึงถุงลม
การไอเป็นกลไกอย่างหนึ่งของการป้องกันระบบหายใจไม่ให้ได้รับอันตราย ปกติเราหายใจเอาอากาศเข้าออกผ่านปอดวันละมาก ๆ (ประมาณ 8,000 – 12,000 ลิตรต่อวันขึ้นกับปริมาณการทำงานและการออกกำลัง) ขณะที่ในอากาศมีของเสียที่เป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจปะปนอยู่ ยิ่งอยู่ในเมืองยิ่งมีมากจากการสูบบุหรี่ มลภาวะเป็นพิษอาจเป็นในรูปฝุ่นละออง ก๊าซเคมี และเชื้อโรค เชื้อรา เชื้อไวรัสต่าง ๆ ร่างกายจึงมีวิธีกำจัดสิ่งเหล่านั้นออกไปเพื่อลดอันตรายของทางเดินหายใจลง ผงฝุ่นละอองขนาดโตเมื่อหายใจเข้าไป (โตเกินกว่า 10 ไมครอน) ส่วนใหญ่จะติดอยู่ในส่วนโพรงจมูกและหลอดลมส่วนบน มีฝุ่นที่มีขนาดเล็กเท่านั้นที่จะผ่านลงไปในหลอดลมส่วนล่างได้ ดังนั้นผงฝุ่นละอองขนาดเล็กจะมีอันตรายกว่าผงฝุ่นละอองขนาดใหญ่
เซลล์ที่เยื่อบุหลอดลมจะมีขนบุ ซึ่งขนจะมีการโบกอยู่ตลอดเวลา บนปลายขนจะมีเมือกคลุมอยู่เป็นแผ่นที่เรียกว่า Mucous Sheet หรือ Mucociliary Blanket ขนจะโบกไล่ให้เมือกเคลื่อนตัวไปสู่ลำคอส่วนต้น ซึ่งเราอาจจะกลืนลงไปในกระเพาะหรือไอออกมา สิ่งแปลกปลอมที่หลุดเข้าไปในหลอดลมจะถูกจับติดกับเมือกที่บุหลอดลม เมื่อพวกสารเคมีที่มีอันตรายเข้าไปสัมผัสก็ถูกผสม ทำให้เจือจางลงเกิดอันตรายน้อยลง ก๊าซก็เช่นเดียวกัน เชื้อต่าง ๆ ที่หายใจเข้าไปจะถูกทำลายโดยภูมิต้านทานต่อเชื้อนั้นที่มีอยู่ในน้ำเมือกและโดยเม็ดเลือดขาว และผลจะถูกขับถ่ายออกมาเป็นรูปของเสมหะ ปกติการหลั่งสารเมือกนี้มีปริมาณน้อยมาก ราว ๆ วันละ 10 – 100 ลบ.ซม. ซึ่งทำให้เราไม่รู้สึกว่ามีเสมหะ เพราะมันมักถูกกลืนลงไปกับน้ำลาย
การไออาจแบ่งตามระยะเวลาที่เป็น ได้แก่
- ไอไม่ถึง 1 สัปดาห์เรียกว่า การไออย่างปัจจุบัน
- ไอติดต่อกันนานเกิน 3 สัปดาห์เรียกว่า ไอเรื้อรัง
- ไอแห้ง ๆ คือ ไม่มีเสมหะ ไอมีเสมหะออกมา และไอเป็นเลือด ซึ่งต้องดูว่าเป็นเลือดอย่างเดียวไม่มีเสมหะปน หรือมีเสมหะปนอยู่ด้วย
สาเหตุการไอมีอยู่มากมาย เพราะโรคของระบบทางเดินหายใจและปอดแทบทุกโรคทำให้เกิดอาการไอได้ทั้งสิ้น นอกจากนั้นก็อาจเกิดจากโรคของระบบอื่น เช่น โรคจมูก โรคกระเพาะ โรคหัวใจ ยาหลายอย่างทำให้เกิดการไอได้ การไออย่างปัจจุบันที่พบบ่อยมักเป็นจากการอักเสบของระบบทางเดินหายใจส่วนบน เช่น หลอดลมอักเสบ และส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อ เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ในเด็กมักเป็นจากการอักเสบในลำคอ หรือต่อมทอลซิลอักเสบ ในคนสูงอายุโดยเฉพาะมีโรคทางสมองอาจเป็นหลอดลมอักเสบ เนื่องจากการสำลักอาหารหรือน้ำลาย
ถ้าไม่นับผู้ป่วยที่สูบบุหรี่ ซึ่งมักจะมีอาการไอเรื้อรัง เนื่องจากมีหลอดลมอักเสบเรื้อรังแล้ว ผู้ป่วยที่มีอาการไอที่พบบ่อยที่สุดคือ อาการไอเรื้อรังหลังเป็นไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ผู้ป่วยพวกนี้อาจมีอาการไอเรื้อรังได้ โดยเฉพาะถ้าผู้ป่วยไม่ได้รับพักผ่อนอย่างเพียงพอ และมีการใช้เสียงมากในระยะเริ่มแรกของโรค ทำให้มีอาการหลอดลมอักเสบตามมา นอกจากนั้นแล้วยังพบว่า หลังการติดเชื้อไวรัสอาจทำให้หลอดลมมีความไวต่อการถูกกระตุ้น (Bronchial Hyperresponsiveness หรือ BHR) แล้วจะมีการไอเกิดขึ้น ซึ่งอาจกินเวลายาวนานถึง 3 – 4 สัปดาห์ได้โดยเฉพาะถ้าพักผ่อนไม่พอหรือใช้เสียงมากอยู่
โรคที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการไอบ่อยอื่น ๆ ได้แก่ การอักเสบเรื้อรังในปอด เช่น วัณโรค หลอดลมอักเสบเป็นหนองเรื้อรัง (Bronchiectasis) ฝีในปอด และมะเร็งในปอด เป็นต้น แต่ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักเอกซเรย์ปอดผิดปกติ
สำหรับโรคที่ทำให้เกิดการไอเรื้อรังและมีเอกซเรย์ปอดปกติ ที่พบบ่อยได้แก่
- โรคหอบหืด (Bronchial Asthma) ผู้ป่วยโรคหอบหืดโดยทั่วไปจะมีอาการไอ เหนื่อยง่าย และหายใจมีเสียงวี๊ด แต่ก็มีผู้ป่วยอีกจำนวนมากมีโรคหอบหืดชนิดที่ไม่รุนแรง บางรายไม่เคยมีอาการหืดจับหรือเหนื่อยง่ายเลย มีเพียงไอเรื้อรังเท่านั้น (พบว่าประมาณ 25% ของผู้ป่วยโรคหอบหืดไม่เคยมีอาการหืดจับ) แต่ถ้าตรวจสมรรถภาพปอดจะพบว่า หลอดลมมีความไวต่อสิ่งเร้า (Bronchial Hyperresponsiveness หรือ BHR) นอกจากนั้นผู้ป่วยพวกนี้ที่มีอาการหลอดลมอักเสบเรื้อรัง การตรวจเสมหะจะพบเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด Eosinophils แทนที่จะเป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด Neutrophils อย่างที่เห็นในหลอดลมอักเสบทั่วไป Eosinophilic Bronchitis นี้ถือเป็น Cough – Variant Asthma คือ เป็นโรคหอบหืดที่มีหลอดลมตีบแบบไม่รุนแรงจึงไม่มีอาการหอบหืด
- ผู้ป่วยซึ่งเป็นโรคแพ้อากาศและมีจมูกอักเสบเรื้อรัง (Allergic Rhinitis) ผู้ป่วยพวกนี้จะมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล และมีน้ำมูกไหลลงในคอเวลานอน (Postnasal Drip) ทำให้มีอาการไอเรื้อรัง ผู้ป่วยอาจมีไซนัสอักเสบ (Paranasal Sinusitis) ร่วมด้วย โดยที่สาเหตุของโรคเป็นภูมิแพ้เช่นกัน ดังนั้นเราจึงพบโรคนี้ร่วมกับโรคหอบหืดในผู้ป่วยคนเดียวกันได้บ่อย
- ผู้ป่วยที่มีกรดในกระเพาะและกรดไหลย้อนกลับเข้ามาในหลอดอาหาร (Gastro-Esophageal Reflux Disease หรือ GERD) ผู้ป่วยพวกนี้อาจมีไอเรื้อรังได้ โดยระบบทางเดินอาหารส่วนบน อาหารผ่านปาก ลำคอ หลอดอาหารส่วนต้น (Esophagus) แล้วลงไปในกระเพาะอาหาร (Stomach) ตรงรอยต่อระหว่างหลอดอาหารส่วนต้นกับกระเพาะอาหารจะมีหูรูดปิดที่เรียกว่า Gastroesophageal Sphincter หรือ Lower Esophageal Sphincter ซึ่งจะกันไม่ให้อาหารและกรดในกระเพาะไหลย้อนกลับขึ้นไปได้
- ผู้ป่วยที่ทานยาบางชนิดที่ใช้รักษาโรคความดันสูงและโรคหัวใจ เช่น ยาพวก ACE Inhibitor อาจทำให้ผู้ป่วยที่ใช้ยานี้มีอาการไอเรื้อรังได้ พบได้ราว 2 – 14% ของผู้ใช้ อาการเกิดในราว 3 – 4 สัปดาห์หลังใช้ยา อาการไอมักเป็นแบบไอไม่มีเสมหะ เป็นมากในตอนกลางคืนและเวลานอนราบ อาการจะหายไปเมื่อหยุดยา ยาพวก Beta-Adrenergic Blocking Agent อาจทำให้เกิดการไอในผู้ป่วยที่มีหลอดลมอักเสบเรื้อรังและโรคหอบหืดโดยช่วยทำให้หลอดลมตีบลง
- ผู้ป่วยที่ใช้เสียงมาก ๆ เช่น ตะโกนมากและพักน้อย เช่น พวกพ่อค้าแม่ค้า หากหยุดพักไม่ใช้เสียง 2 – 3 วัน อาการจะดีขึ้น
- ผู้ที่ไอหรือกระแอมโดยที่ไม่มีโรค เรียก Psychogenic หรือ Habit Cough การวินิจฉัยมักไม่พบว่ามีสาเหตุของการไออื่น สันนิษฐานว่าน่าจะมีสาเหตุมาจากจิตใจ มีคนเป็นแบบนี้จำนวนมาก
การไอมีผลต่อสุขภาพมากมาย เช่น
- ปอด
- อาจมีอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ มีการอักเสบของหลอดลมมากขึ้น บวมมากขึ้น มีการฉีกขาดเกิดขึ้น
- ปอดแตกและมีลมรั่วเข้าไปในช่องเยื่อบุหุ้มปอด (Pneumothorax) อันเป็นผลจาก Barotrauma ที่เกิดกับปอดขณะไอ
- สมอง
- มีอาการหมดสติ (Cough Syncope)
- ทรวงอก
- เจ็บกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อฉีกขาด กระดูกซี่โครงหัก
- การแทรกซ้อนอื่น ๆ
- ปัสสาวะราด (Urine Incontinence)
- เสียงแหบ
- ไส้เลื่อน
- ปวดหลัง
- พักผ่อนไม่เพียงพอในผู้ที่มีอาการไอมากช่วงกลางคืน
ส่วนใหญ่แพทย์จะทำการซักประวัติ การตรวจร่างกาย การตรวจทางรังสีทรวงอกพอจะบอกสาเหตุได้ว่า อาการไอเกิดจากอะไร แต่ก็มีผู้ป่วยบางรายที่มีความจำเป็นต้องตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม ซึ่งสามารถช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคและให้การรักษาได้ถูกต้องถึง 90% แม้ว่าสาเหตุของการไอส่วนใหญ่จะเกิดจากโรคของปอดและระบบทางเดินหายใจก็ตาม แต่บางครั้งก็พบว่าอาจเกิดจากโรคของระบบหัวใจ โรคของระบบทางเดินอาหาร เป็นต้น นอกจากนี้แล้วประมาณ 20 – 60% ของผู้ป่วยอาการไอไม่ได้เกิดจากสาเหตุเดียว แต่เกิดจากหลายสาเหตุ ได้แก่
- ในกรณีที่สงสัยโรคปอด แพทย์อาจขอตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ของทรวงอก
- ในกรณีที่สงสัยโรคเกิดจากการอักเสบของจมูกและหลอดลมส่วนต้น อาจต้องให้แพทย์ผู้ชำนาญการทางหู คอ จมูก ร่วมตรวจรักษาด้วย โดยอาจมีการเอกซเรย์ไซนัส (โพรงกระดูกที่อยู่รอบโพรงจมูก) เพื่อหาสาเหตุ
- ในกรณีที่สงสัยโรคหอบหืด แพทย์อาจขอตรวจดูสมรรถภาพของปอด (Pulmonary Function Test) เพื่อดูว่ามีหลอดลมตีบหรือไม่ ถ้าพบว่าตีบก็ให้พ่นยาขยายหลอดลม ถ้าหลอดลมสนองต่อยาก็จะช่วยเพิ่มน้ำหนักในการวินิจฉัยโรค บ่อยครั้งที่พบว่าผู้ป่วยที่เป็นโรคหอบหืดในขณะที่อาการโรคยังไม่จับ (ไม่มีอาการ) อาจไม่มีหลอดลมตีบได้ ผลการตรวจสมรรถภาพปอดเบื้องต้นอาจจะปกติ ทำให้บอกไม่ได้ว่าผู้ป่วยมีโรคหอบหืด ควรมีการทดสอบว่า หลอดลมไวต่อการเร้าผิดปกติหรือไม่ โดยการตรวจที่เรียกว่า Bronchial Challenge Test โดยใช้สารกระตุ้นให้หลอดลมเกิดการหดตัว การตรวจนี้เครื่องมือที่ใช้ ควรเป็นเครื่องมือที่ให้ผลตรวจที่มีความชัดเจนสูง เรียกว่า Body Pletysmograph (รูปที่ 19) ซึ่งใช้ตรวจสมรรถภาพปอดอื่น ๆ เช่น หาปริมาตรปอดและหาการแลกเปลี่ยนอากาศในถุงลมได้ ซึ่งเครื่องตรวจสมรรถภาพปอดอย่างธรรมดา (Spirometer) ไม่สามารถทำได้
- ในกรณีที่สงสัยกรดในกระเพาะไหลย้อนกลับ แพทย์อาจต้องให้ผู้ป่วยมีการตรวจทางระบบทางเดินอาหารตามที่กล่าวมาข้างต้นแล้วว่า การตรวจเป็นขั้นตอนตามที่กล่าวมาสามารถให้การวินิจฉัยและรักษาโรคได้สูงถึง 90 – 95%
โรคหลายชนิดถ้ายิ่งทิ้งไว้นานจะยิ่งรักษาให้หายยากหรือไม่หายเลย ผู้ป่วยที่มีอาการไอเรื้อรังจึงไม่ควรรอการตรวจนานเกินไป